การศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหานักศึกษาจบการศึกษาช้ากว่าแผนการเรียน กรณีศึกษา : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คำสำคัญ:
การจบการศึกษาช้ากว่าแผนการเรียนบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหานักศึกษาจบการศึกษาช้ากว่าแผนการเรียน และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีศึกษา : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาซึ่งจบการศึกษาช้ากว่าแผนการเรียน และกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี จาก 9 ภาควิชา จำนวน 229 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) และกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือ อาจารย์ผู้สอน จำนวนทั้งสิ้น 54 คน โดยใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสอบถามและสัมภาษณ์ปัญหานักศึกษาจบการศึกษาช้ากว่าแผนการเรียน พบว่า นักศึกษามีความคิดเห็นว่าด้านหลักสูตรข้อที่เป็นปัญหามากที่สุด ได้แก่ การจัดขบวนวิชาในแต่ละภาคเรียนมีจำนวนวิชามากเกินไป ส่งผลให้ลงทะเบียนเพิ่มอีกไม่ได้ (กรณีติด F) ส่วนอาจารย์มีความคิดเห็นว่าด้านผู้สอนเป็นปัญหามากที่สุด ผลการสัมภาษณ์พบว่า 1) นักศึกษา มีความเห็นสอดคล้องกับผลการสอบถามนักศึกษาด้วยกัน ในด้านผู้สอนว่า ปัญหาการมอบหมายงานโดยไม่คำนึงถึงระดับความรู้ของผู้เรียนเป็นปัญหามากสุด 2) อาจารย์ผู้สอน มีความเห็นสอดคล้องกับผลการสอบถามอาจารย์ด้วยกัน ในด้านผู้เรียนว่า การไม่ใส่ใจในการเรียนเท่าที่ควรเป็นปัญหามากสุด ผลการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานักศึกษาจบการศึกษาช้ากว่าแผนการเรียนจากการสอบถามนักศึกษา และสัมภาษณ์นักศึกษา พบว่า มีความสอดคล้องกับประเด็นที่เป็นปัญหามากสุดของแต่ละด้านตามที่ได้มีการสอบถามและสัมภาษณ์ คือ ด้านการทำปริญญานิพนธ์ ขณะที่การเสนอแนวทางจากการสอบถามอาจารย์ พบว่า มีความสอดคล้องกับประเด็นที่เป็นปัญหามากสุดของด้านอาจารย์ที่ปรึกษา ส่วนการสัมภาษณ์อาจารย์ พบว่า มีความสอดคล้องกับประเด็นในด้านผู้เรียน
References
คณะกรรมการดำเนินงานวิจัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2556). ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการศึกษาระดับปริญญาตรี ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดนครศรีธรรมราช. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
จารุณี มงคลแก้ว และคณะ(2553). การศึกษาสาเหตุการออกกลางคันและการไม่สำเร็จการศึกษาตามแผน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา. รายงานการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา.
ดิลกรัตน์ โคตรสุมาตย์(2554). ปัจจัยที่ส่งผลต่อระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ทรงสิริ วิชิรานนท์ และคณะ(2550). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสำเร็จการศึกษาตามกำหนดเวลาและหลังกำหนดเวลาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.
พันธ์จิตต์ สีเหนี่ยง (2555). ปัจจัยที่ส่งผลเสียให้นิสิตสาขาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เรียนไม่จบหลักสูตรปริญญาตรีภายใน 4 ปี. วารสารสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 2555, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุรีรัตน์ เสือน้อย (2555). ปัจจัยที่มีผลต่อการไม่สำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. รายงานการวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์.
อโนมา ศิริพานิชและคณะ (2559). สาเหตุการออกกลางคันของนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และแนวทางแก้ไข. วารสารวิชาการศิลปศาสตร์ประยุกต์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 หน้า : 79-88, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
อารี ผสานสินธุวงศ์ (2559). สาเหตุการออกกลางคันของนักศึกษามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ชั้นปีที่ 1 ปี การศึกษา 2559. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์.