การอนุรักษ์ “วิธีการทำสายซอ” ของช่างมนัส สุริยะรังษี

ผู้แต่ง

  • สุภาสิรีร์ ปิยะพิพัฒน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ:

วิธีการทำสายซอ, ช่างมนัส สุริยะรังษี, ช่างทำเครื่องดนตรีไทย, ช่างทำเครื่องดนตรีไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาประวัติและผลงานของช่างมนัส สุริยะรังษี 2) เพื่อศึกษาวิธีการทำสายซอของช่างมนัส สุริยะรังษี ดำเนินการวิจัยโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ช่างมนัส สุริยะรังษี เป็นช่างทำเครื่องดนตรีไทยในตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์เนื้อหาผลการวิจัยพบว่า 1) ช่างมนัส สุริยะรังษี เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2504 ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 78/18 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอายุ 57 ปี มีอาชีพหลักสร้างเครื่องดนตรีไทย ได้แก่ ซอด้วง และซออู้ ได้รับการถ่ายทอดวิธีการสร้างเครื่องดนตรีไทยจากนายสมพร นวมระวี เจ้าของร้านสังคีตประดิษฐ์เมื่อครั้งยังเป็นลูกจ้างและได้ออกมาประกอบอาชีพเป็นของตนเองเมื่ออายุ 25 ปี จนถึงปัจจุบัน ผลงานที่ได้รับการ ยกย่อง เช่น รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ในการประกวดผลงานและผลผลิตของชุมชน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเภทผลิตภัณฑ์ : ของใช้ ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก (ซออู้/ซอด้วง) 2) วิธีการทำสายซอ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การกรอไหม เริ่มจากการคัดเลือกเส้นไหม เส้นไหมที่นำมาใช้ ได้แก่ เส้นไหมจีน ซึ่งจะนำมาเข้าเครื่องกรอไหม ขั้นตอนที่ 2 การเดินไหม เป็นการนำหลอดไหมที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาเข้าเครื่องควั่นไหม แล้วใช้วิธีร่วมกับการเดินสาวไหม ซึ่งขนาดของสายซอแต่ละเส้นจะมีความแตกต่างกันตามจำนวนของหลอดไหม เช่น สายเอกซอด้วง 8 หลอด สายทุ้มซอด้วง 10 หลอด สายเอกซออู้ 15 หลอด สายทุ้มซออู้ 19 หลอด สายเอกซอสามสาย 8 หลอด    สายกลางซอสามสาย 14 หลอด สายทุ้มซอสามสาย 20 หลอด ขั้นตอนที่ 3 การทากาว ใช้กาวหนังวัวที่ได้จากการเคี่ยวผสม สีย้อมผ้า (สีเหลืองแก่) ทาเส้นไหม ขั้นตอนที่ 4 การควั่นเกลียวไหม เพื่อเป็นการตีเกลียวให้เส้นไหมมีความเหนียวและแน่น ด้วยประสบการณ์ด้านงานผลิตเครื่องดนตรีไทยของช่างมนัส สุริยะรังษี จึงทำให้วิธีการทำสายซอ มีขั้นตอนการทำอย่างประณีตและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่อาศัยฝีมือและความชำนาญในการผลิต จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์และถ่ายทอด เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น

References

ธนิต อยู่โพธิ์. (2523). เครื่องดนตรีไทย พร้อมด้วยตำนานการผสมวง มโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องสาย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.

วัชรพล คงอุดมสิน. (2560). กรรมวิธีการสร้างซอด้วงของครูประสิทธิ์ ทัศนากร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางค์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุกรี เจริญสุข. (2546). เสียงและระบบเสียงดนตรีไทย. มปท.: มปพ.

ชนะชัย กอผจญ. ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้เครื่องสายไทย วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม. (6 ตุลาคม 2561). สัมภาษณ์.

บรรเลง พระยาชัย. ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้เครื่องสายไทย วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม. (13 ตุลาคม 2561). สัมภาษณ์.

มณฑา ศิลปรายะ. ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. (11 ตุลาคม 2561). สัมภาษณ์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-27