การสร้างผลิตภัณฑ์อัญมณีด้วยเครื่องเจียระไนพลอยขนาดเล็กเพื่อการฟื้นฟูแหล่งเจียระไนพลอย บ้านห้วยสะพาน จังหวัดกาญจนบุรี

ผู้แต่ง

  • สุรพันธ์ จันทนะสุต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ:

ผลิตภัณฑ์อัญมณี, เครื่องเจียระไนพลอย, บ้านห้วยสะพาน, จังหวัดกาญจนบุรี

บทคัดย่อ

การสร้างผลิตภัณฑ์อัญมณีด้วยเครื่องเจียระไนพลอยขนาดเล็ก เพื่อการฟื้นฟูแหล่งเจียระไน   พลอยบ้านห้วยสะพาน จังหวัดกาญจนบุรี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์อัญมณีชนิดต่าง ๆ เพื่อศึกษากระบวนการเจียระไนพลอยและการนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างเครื่องเจียระไนพลอยขนาดเล็ก เพื่อลดค่าใช้จ่ายและตอบสนองกระบวนการเจียระไนพลอยของชุมชนในเชิงพาณิชย์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลงานผลิตภัณฑ์เครื่องประดับอัญมณี ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยลงพื้นที่แหล่งเจียระไนพลอย บ้านห้วยสะพาน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพื้นที่ติดต่อกันระหว่างอำเภอบ่อพลายกับตัวเมืองกาญจนบุรี เป็นแหล่งเจียระไนพลอย เนื่องจากสะดวกในด้านการขนส่งและใกล้ เหมืองแร่อำเภอบ่อพลอยที่มีชื่อเสียงด้านนิลหรือพลอยสีดำ การเจียระไนของบ้านห้วยสะพานเป็นชุมชนขนาดเล็กที่ทำการเจียระไนพลอย   ลักษณะของเครื่องเจียระไนพลอยมีเพลาหรือแกนหมุนจักร โดยมีจุดหมุนแบบปลายแหลมสองทางคือด้านบนและด้านล่าง ก่อนการใช้งานจะต้องทำการตอกลิ่มไม้ให้แน่นเสมอ เพื่อป้องกันการส่ายหรือไม่ได้ศูนย์ของการหมุนของเพลา ข้อเสียของเครื่องเจียระไนพลอย คือการได้ศูนย์หรือการหมุนของเพลาจะต้องตั้งฉากเสมอและต้องค่อยตรวจสอบการหมุนว่าได้ศูนย์อยู่หรือไม่ ขณะที่เครื่องทำงานจะต้องคอยตอกลิ่มเป็นระยะ ส่วนมากเมื่อใช้ไปสักพักเพลาจะส่ายและไม่ได้ศูนย์ จึงเป็นที่มาของปัญหาในการเจียระไนพลอย ผลจากการวิจัยพบว่า รูปแบบผลิตภัณฑ์อัญมณีที่พบและนิยมมาก ได้แก่ จี้ ต่างหู สร้อยข้อมือ และแหวน   ผู้วิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อัญมณีรูปแบบแนวสร้างสรรค์ โดยสร้างเป็นเข็มกลัดติดไท ต่างหู สร้อยข้อมือ และแหวนที่ไม่ซ้ำแบบในท้องตลาด โดยผู้วิจัยศึกษาวิธีการเจียระไนอัญมณีหลากชนิด สร้างรูปทรงอัญมณีตกแต่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ และการเจียระไนพลอยจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือหลายอย่าง ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเครื่องเจียระไน ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องเจียระไนขนาดเล็กหรือเครื่องเจียระไนแบบตั้งโต๊ะ โดยใช้ลูกปืนตุ๊กตายึดแกนเพลาแทนการใช้เพลาแหลม เพื่อลดปัญหาขณะทำการเจียระไนโดยจักรเจียระไนจะหมุนนิ่ง ขนาดของเครื่องกระทัดรัดสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ใช้อุปกรณ์ได้หลายชนิดภายในเครื่องเดียวกัน ได้แก่ ตุ๊กตาจี้พลอย มือจี้ มือกวาด มือจี้ต๊อกแต๊ก ทวนบังคับเหลี่ยมชนิดติดด้ามในตัว ซึ่งเครื่องเจียระไนพลอยโดยทั่วไปไม่สามารถใช้อุปกณ์ได้ครอบทุกตัว ผู้วิจัยได้ทำการทดลองสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องประดับได้แก่ จี้ ต่างหู สร้อยข้อมือ แหวน และเข็มติดเนคไท ด้วยเครื่องเจียระไนพลอยขนาดเล็กที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ราคาไม่แพง มีประสิทธิภาพสูงในการทำงานเหมาะสมกับชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจ ชุมชนขนาดเล็ก ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้และลดต้นทุนการผลิตให้กับชุมชน

References

ไมตรี จันทร์คง (2538). การเจียระไนพลอยขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา.

ประเสริฐ ศีลรัตนา(2538). การออกแบบลวดลาย. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

มณีขจิต (2544). เคล็ดลับสารพันอัญมณี. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

ศักดา ศิริพันธุ์ (2552). อัญมณีในเครื่องประดับ. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สุทธาการพิมพ์ใ

ปริศนา สิริอาชา (2552). แร่และซากดึกดำบรรพ์. กรุงเทพ ฯ : สุวิริยาสาส์น.

วัฒนะ จูฑะวิภาต. (2545). การออกแบบเครื่องประดับ. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์ธนาเพรส แอนด์กราฟฟิค.

วรรณรัตน์ อินทร์อ่ำ (2536). ศิลปะเครื่องประดับ. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-27