การศึกษาการติดตามข้อมูลข่าวสาร ระบบการแจ้งเตือน และการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติน้ำท่วมนอกเขตกรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • อัญชนา ณ ระนอง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

คำสำคัญ:

อุทกภัย, ภาวะวิกฤติ, การแจ้งเตือน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการติดตามข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมของผู้ประสบอุทกภัยทั้งจากสื่อทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ 2) เพื่อศึกษาการดำเนินงานของภาครัฐในการแจ้งเตือนภัยอุทกภัยในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย และ 3) เพื่อศึกษากรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเชิงปริมาณทำการสำรวจแบบสอบถามผู้ประสบอุทกภัยปี 2554 โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย  จังหวัดสระบุรี และจังหวัดอ่างทอง จำนวนรวม 171 คน โดยการแจกแบบสอบถาม วิธีการสุ่มตัวอย่างใช้ Non-Probability Sampling   โดยเลือกตัวอย่างแบบบังเอิญหรือแบบสะดวก (Accidental or Convenience Sampling)  การวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีสัมภาษณ์ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบส่วนท้องถิ่น โดยสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)  สำหรับการศึกษาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยใช้การศึกษาแบบกรณีศึกษา (case study)

          ผลการวิจัยพบว่าผู้ประสบอุทกภัยนอกเขตกรุงเทพมหานครได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมผ่านโทรทัศน์คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาคือผ่านทางหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เนท และวิทยุ ตามลำดับ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่ให้ข้อมูลผ่านเจ้าหน้าที่และกลไกรัฐนั้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ประสบอุทกภัยได้รับการแจ้งข่าวสารเรื่องน้ำท่วมจากเทศบาลตำบล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาคือผู้ใหญ่บ้าน ถ้ดมาคือกำนัน นายอำเภอ หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตำรวจ หรือการได้ข้อความผ่าน SMS ตามลำดับ โดยข้อมูลส่งมาจากกรมชลประทาน สำนักงานจังหวัด และอำเภอ

          การดำเนินงานของภาครัฐในการแจ้งเตือนอุทกภัย ในระดับส่วนกลาง กรมชลประทานมีหน้าที่สำรวจน้ำในเขื่อน กรมอุตุนิยมวิทยาดูปริมาณน้ำฝน จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผล วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแจ้งข้อมูลเตือนไปยังหน่วยงานท้องถิ่นทุกพื้นที่ ในระดับจังหวัดพบว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย 

          ข้อเสนอแนะจากการวิจัยคือควรมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ทั้งภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา   กรมทรัพยากรน้ำ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด   องค์การบริหารงานส่วนตำบล เทศบาล และอำเภอ เป็นต้น โดยการประสานงานระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญที่จะช่วยรับมือกับปัญหาอุทกภัย โดยจะมีการแลกเปลี่ยนทั้งทรัพยากรและข้อมูล

References

กรมอุตุนิยมวิทยา. 2560. หนังสืออุตุนิยมวิทยา. วันที่ 23 ธันวาคม 2560. จากเว็ปไซต์ http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=70.

ไทยพับลิก้า. 2554. ธนาคารโลกประเมินน้ำท่วมเสียหาย 1.356 ล้านล้านบาท และใช้เงินฟื้นฟูอีกกว่า 7 แสนล้าน. สืบค้นวันที่ 10 ธันวาคม 2560 จากเว็ปไซต์ https://thaipublica.org/2011/12/world-bank-flood-damage/.

มูลนิธิกระจกเงา. 2550. น้ำท่วม/อุทกภัย. สืบค้นวันที่ 26 ธันวาคม 2560 จากเว็ปไซต์ http://www.siamvolunteer.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=10&auto_id=7&TopicPk=.

องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี. 2559., สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2559. จากเว็ปไซต์ http://www.tarngam.go.th/social.php.

Miller, K. 2005. Communication Theories: Perspectives, Processes, and Contexts (2nd ed.). New York: McGraw-Hill Higher Education.

Vedung, E., 2017. Public Policy and Program Evaluation. New York: Transaction Publishers.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-29