การเรียนรู้ทางสังคมเพื่อส่งเสริมเจตคติต่อการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย

ผู้แต่ง

  • สมภพ ล้อเรืองสิน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รองศาสตราจารย์ ดร.อาชัญญา รัตนอุบล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรฉัตร์ สุปัญโญ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น, เจตคติ, การเรียนรู้ทางสังคม

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบและตัวชี้วัดของเจตคติต่อการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในบริบทเศรษฐกิจและสังคมไทย2) ศึกษาแนวทางการเรียนรู้ทางสังคมของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาโปรแกรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนตามแนวคิดการเรียนรู้ทางสังคมเพื่อส่งเสริมเจตคติต่อการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นของนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยงานวิจัยนี้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศไทย จำนวน 124 คน โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคือเป็นผู้ประกอบการที่ก่อตั้งธุรกิจด้วยตนเองและดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี และมียอดขายในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทโดยใช้รูปแบบการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา และนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติพื้นฐานผลการศึกษาพบว่าองค์ประกอบทางเจตคติต่อการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในบริบทสังคมไทย ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ 1) องค์ประกอบด้านความรู้ความเข้าใจต่ออาชีพผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น 2) องค์ประกอบด้านความรู้สึกต่ออาชีพผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น 3) องค์ประกอบด้านพฤติกรรมที่สะท้อนการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นและ 4) องค์ประกอบการรับรู้ถึงศักยภาพของตนเองและแรงสนับสนุนจากสภาพแวดล้อมในส่วนของแนวทางการเรียนรู้ทางสังคมของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยมีรูปแบบร่วมกันที่ชัดเจนคือ 1) มีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวแบบในการเรียนรู้และนำมาใช้ในการทำงานของตนเอง 2) จดจำภาพลักษณ์เชิงบวกของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและนำมาใช้เป็นแรงผลักดันตนเองในการเติมเต็มช่องว่างระหว่างตนเองกับผู้ประกอบการที่เป็นตัวแบบนั้น 3) การได้รับแรงเสริมทางบวกจากสังคมรอบข้างช่วยกระตุ้นให้เกิดความมั่นใจและมุ่งมั่นในการทำงาน 4) การติดตามบุคคลต้นแบบ ข่าวสารธุรกิจหรือผู้ประกอบการตัวแบบอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความคุ้นเคยเสมือนตนเองเป็นส่วนหนึ่งของบริบทธุรกิจนั้น และนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 5) ตัวแบบการเรียนรู้อาจเป็นได้ทั้งผู้ประกอบการ ตราสินค้า หรือองค์กรบริษัทก็ได้ ที่มีภาพลักษณ์ แนวความคิด วิสัยทัศน์ที่ดีและน่าสนใจในการนำมาเป็นตัวแบบการเรียนรู้ 6) การเรียนรู้จากสังคมรอบข้างเพื่อมองหาและระบุถึงปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการลงมือทำงานและสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ7) การเรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางที่สำคัญในปัจจุบัน

References

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน. (2560). ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ปี 2560.

กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา. (2559). พิมพ์เขียว Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน.

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์. (2560). อัตราการว่างงานกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่? (ออนไลน์) แหล่งที่มา: https://tdri.or.th/2017/10/unemployment-rate-2014-v-2017/ (5 เมษายน 2561)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2560). สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมกราคม พ.ศ.2560.

Bandura, A. (1977). Social learning theory. Englewood Cliffs, N.J.: Prentice-Hall.

Boyle, P. G. (1981). Planning Better Programs. New York: McGraw-Hill.

Schiffman, L. G. K., Leslie Lazar. (2004). Consumer Behavior (6th ed.). NJ: Prentice Hall, Upper Saddle River.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-07-01