การวิเคราะห์สภาวะหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล
คำสำคัญ:
หนี้สิน, สหกรณ์, สหกรณ์การเกษตร, สมาชิกสหกรณ์การเกษตร, ค่านิยม, ทัศนคติบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสภาวะหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล 2. ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการก่อหนี้ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล จำนวน 393 คน โดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิอย่างเป็นสัดส่วน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาวะหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 ปัจจัยการกู้ยืมเงิน ประกอบด้วย ด้านค่านิยม/ทัศนคติ และด้านความจำเป็นในการบริโภค/อุปโภค ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า
- สมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน จำนวน 10,001 – 15,000 บาท (ร้อยละ 45.80) มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน จำนวน 15,001 – 20,000 บาท (ร้อยละ 42.24) เป็นสมาชิกสหกรณ์มาแล้วมากกว่า 15 ปี – 20 ปี (ร้อยละ 37.66) มีวัตถุประสงค์การเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อใช้บริการสินเชื่อ (ร้อยละ 96.95) มีหนี้กับสหกรณ์ จำนวน 10,001 – 50,000 บาท (ร้อยละ 45.55) เป็นหนี้มามากกว่า 15 ปี – 20 ปี (ร้อยละ 35.88) สาเหตุหลักที่กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ คือ เพื่อใช้ในการเกษตร (ร้อยละ 92.11)
- การวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการก่อหนี้ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดปริมณฑล ด้วยการทดสอบไคร์สแควร์ (Chi-Square) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.1 พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการก่อหนี้ ได้แก่
2.1 ปัจจัยส่วนบุคคล คือ อายุ, ระดับการศึกษา, จำนวนสมาชิกในครัวเรือน, จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่ท่านต้องอุปการะเลี้ยงดู, รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน, ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของท่านและครอบครัว และอายุการเป็นสมาชิกสหกรณ์
2.2 ปัจจัยด้านค่านิยม/ทัศนคติ คือ สภาพทางสังคมที่ต้องสร้างภาพลักษณ์มีผลต่อการก่อหนี้ของท่าน, ระดับการศึกษาของท่านมีผลต่อการก่อหนี้, การรู้จักบริหารเงิน/การวางแผนจัดการการเงิน (รับ-จ่าย) ทำให้การก่อหนี้ของท่านลดลง, หากรายได้ในอนาคตของท่านจะเพิ่มขึ้น ท่านจะใช้จ่ายในปัจจุบันเพิ่มขึ้นด้วย, สินค้าเงินผ่อนมีแรงจูงใจให้ซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น, การซื้อ รถยนต์/รถมอเตอร์ไซค์ ส่วนตัว คุ้มค่ากว่าการใช้รถโดยสารสาธารณะ มีผลกระตุ้นต่อการก่อหนี้ของท่าน, ท่านกู้ยืมเงินเพราะทำให้ท่านจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้นตามที่ท่านต้องการหรือในยามที่ฉุกเฉิน, ค่าครองชีพสูงขึ้น/สินค้า มีราคาแพงมากขึ้นมีผลต่อการก่อหนี้ของท่าน และนโยบายการเมือง/รัฐบาล ทำให้กู้ยืมมากขึ้น เช่น นโยบายประกันพืชผล นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายพักชำระหนี้ ฯลฯ
2.3 ปัจจัยด้านความจำเป็นในการบริโภค/อุปโภค คือ การศึกษาของบุตร, ความสะดวกสบายในชีวิต และปัญหาภัยพิบัติ (น้ำท่วม, ภัยแล้ง)
References
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2560). สารสนเทศน่ารู้ทางการเงินสหกรณ์การเกษตร ประจำปี 2560. ค้นจาก https://www.cad.go.th
พัชรินทร์ มาบุญ และ พัชรี สุริยะ. (2559). ปัจจัยที่มีผลต่อการค้างชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรภูเวียง จำกัด จังหวัดขอนแก่น. ค้นจาก https://ag2.kku.ac.th
ศิรินภา โภคาพานิชย์ และ สัญญา เคณาภูมิ. (2560). การศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อภาระหนี้สินของเกษตรกรอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2561). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อรายได้ รายจ่ายการออมหนี้สิน ปัจจัยที่กำหนดการตัดสินใจก่อหนี้และความต้องการกู้ของครัวเรือนเกษตร. ค้นจาก http://www.oae.go.th
สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร. (2555). แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) (Online). http://www.bangkok.go.th
Sanguanwongse, V., Kikuchi, P., & Seemanon, K. (2019). Debt Analysis of Agricultural Cooperative members in Thailand. International Journal of Novel Research in Marketing Management and Economics, 6(1), 53 – 59.