บทบรรณาธิการ

Main Article Content

Bunsanoe Triwiset

บทคัดย่อ

วารสารวิชาการ วิวิธวรรณสาร เกิดขึ้นจากสำนึกธรรมดาของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตนเองว่า “เครือข่ายนักวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรม” มีเจตนาจำนงร่วมกัน ในการพัฒนาวารสารวิชาการเพื่อเปิดพื้นที่อิสระสำหรับการฝึกฝนตนเองทางวิชาการ  มิมีเจตจำนงสูงส่งจะทำการเพื่อบ้านเพื่อเมืองแต่อย่างใดไม่  เพียงสำเหนียกตระหนักและตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาไทยที่ห้อยแขวนไว้กับระบบคุณภาพ ที่มีการลงทุนเกี่ยวกับกระบวนการคุณภาพนับพันล้านในแต่ละปีนั้น เหตุใด? ผลลัพธ์ (Outcome) จากกระบวนการนั้น จึงกลายเป็นความสลดหดหู่ อะไรคืออุปสรรคขวากขวางทางเดินไปสู่แสงสว่างเหล่านั้น ที่ทุกฝ่ายต่างละไว้ในฐานที่เงียบงัน บทความ “วิวิธวรรณสาร” ฉบับแรกนี้ ประกอบด้วย 6 บทความ ได้แก่ 


พลังอำนาจทางภาษาจากวาทกรรมของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (Language Power to Create Authority Power in Seksan Prasoetkun’s Discourse) ที่พยายามพิสูจน์ว่าภาษามีพลังอำนาจจริงหรือไม่ ถ้อยคำที่เคลือบแฝงด้วยเลศนัยแห่งผู้ประดิษฐ์ถ้อยคำอย่างไร ผู้เขียนได้ใช้ทฤษฎีวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตีแผ่ออกมาให้เห็น 


การศึกษาเปรียบเทียบหน่วยเสียงพยัญชนะภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (A Comparative Study of Thai and English Consonants’ Phonemes) ที่พิสูจน์ให้เห็นมนุษย์แม้แต่ชาติต่างศาสนา แต่มีจุดร่วมบางประการที่เป็นสากล ดังในบทความนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างตระกูลกัน แต่ก็พบว่ามีส่วนคล้ายกัน ที่นักภาษาศาสตร์เรียกว่า ความเป็นสากลของภาษา (universal language)


 อุปลักษณ์แสดงอารมณ์ในภาษาไทย (Emotion Metaphors in Thai) อุปลักษณ์ ในบทความดังกล่าว มิได้หมายถึงภาพพจน์อุปลักษณ์ ในวรรณคดีที่คุ้นเคย แต่เป็นอุปลักษณ์ในแนวภาษาศาสตร์ปริชาน ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เข้าใกล้ภาษาของตนเองมากขึ้น กล่าวคือ  อุปลักษณ์ตามแนวภาษาศาสตร์ปริชานนั้นก็คือภาษาที่ผู้คนในสังคมใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น คำพูดว่า “ฝากไว้ก่อนเถอะ” สำหรับผู้ที่เสียเปรียบในเหตุการณ์หนึ่ง ทั้งที่จริงๆ มิได้ฝากสิ่งใดไว้ แต่มีมโนทัศน์ถึงว่า ตนได้สูญเสียบางสิ่งบางอย่างจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนั้นมิได้ฉกฉวยสิ่งของ หรือยึดทรัพย์อะไรไป แต่มีนัยถึงการที่จะต้อง “เอาคืน” (กับสิ่งที่ไม่เคยฝากไว้) กล่าวคือ การหาโอกาสตอบโต้หรือกระทำให้เท่าเทียมกับอีกฝ่ายที่เคยกระทำกับตน ในความหมายการช่วงชิงความได้เปรียบกลับคืนมา


 การศึกษานิทานพื้นบ้านบ้านนายม ตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ (A Study of Folklore at Ban Nayom Nayom Sub-District Mueang District Phetchabun Province) ได้ส่งสารว่า ในหมู่บ้าน มีนิทานและการเล่าเรื่อง ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลอดจนคุณค่าทางสังคมในการดำรงอยู่ของชุมชน ทั้งตอกย้ำว่า วาทกรรม “อยากได้ความรู้ต้องไปสู่ชาวบ้าน”


 มหานครนิพพานในวรรณกรรมพุทธศาสนา (The Nirvana great land in Buddhist literatures) เป็นการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องนิพพานในวรรณกรรมพุทธศาสนา ซึ่งมิเพียงปรากฏในวรรณกรรมยุคสุโขทัยเท่านั้น หากแนวคิดดังกล่าวยังปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาในสมัยหลังความด้วย นอกจากนั้น ยังผนวกความเชื่อเรื่องอัตตาของศาสนาฮินดูเข้ามาในพุทธศาสนาอีกด้วย  


 บทปริทัศน์หนังสือ (Book Review) ภาษาและวรรณคดีชวนพินิจ ใน "วิวิธวารประพันธ์" (Language & literature review in wiwitwarapraphan)


หวังว่า บทความในวารสารเล่มนี้ คงช่วยขยายมุมมอง และความคิดต่างๆ ยังผู้อ่าน และผู้สนใจตามสมควร อันจะนำสู่การพัฒนางานวิชาการเฉพาะตน ที่อาจยังประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป

Article Details

How to Cite
บท
บทบรรณาธิการ

References

Triwiset, B. (2017). Editorial Note. Wiwitwannasan Journal of Language and Culture, 3(1). Retrieved from https://www.tci-thaijo.org/index.php/wiwitwannasan/article