การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2

Main Article Content

กัมพล เจริญรักษ์

บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2) พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3) ศึกษาการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 4) ประเมินการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และขั้นตอนที่ 4 การประเมินการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผลการวิจัย พบว่า


  1. ความต้องการจำเป็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ที่อยากปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีตัวชี้วัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งตัวชี้วัดในบางตัวซ้ำซ้อนกัน เน้นว่าผู้เรียนต้องรู้อะไร หรือควรรู้อะไร แตกต่างจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ     ที่เน้นให้ผู้เรียนทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น นอกจากนี้ยังหลักสูตรเดิมยังไม่ได้สนองต่อความสามารถและความต้องการของนักเรียนอย่างแท้จริง ไม่สอดคล้องตามบริบทของโรงเรียนชุมชน และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

  2. ได้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จำนวน 7 โรงเรียน ของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษารุ่นที่ 1 โดยหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษาผ่านการวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒินำมาปรับปรุงตามคำแนะนำ แล้วนำหลักสูตรฐานสมรรถนะเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาให้ความเห็นชอบ และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง พิจารณาอนุมัติให้ใช้หลักสูตรสถานศึกษาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง รุ่นที่ 1 ทั้ง 7 โรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

  3. สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รุ่นที่ 1 นำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้โดยการแปลงหลักสูตรไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ และผลการนิเทศ ติดตามการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ พบว่า นักเรียนมีความสุข สนุกในการเรียนรู้ สนใจที่เรียนมากยิ่งขึ้น เป็นเจ้าของกิจกรรมและเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ

  4. ผลการประเมินการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาและครู มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน

Article Details

บท
บทความวิจัย