จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงาน

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร

        วารสารการจัดการและการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กำหนดจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร (Publication Ethics) เพื่อคุณภาพและมาตรฐานของการจัดทำวารสาร ดังนี้

ผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมาเป็นบทความใหม่ที่ไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดมาก่อนหรืออยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์บทความในวารสารอื่น
  2. ผู้นิพนธ์ต้องเสนอข้อเท็จจริงจากผลการวิจัยหรือการศึกษาค้นคว้าที่มีการดำเนินงานถูกต้องตามหลักจริยธรรมในการวิจัย ไม่นำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือนจากผลการศึกษา
  3. ผู้นิพนธ์ต้องนำเสนอผลการวิจัยหรือการศึกษาค้นคว้าของตนเอง ไม่คัดลอกผลงานผู้อื่นโดยมิได้มี
    การอ้างอิงหรือไม่ได้รับอนุญาต
  4. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้มีองค์ประกอบครบถ้วน มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน และจัดรูปแบบบทความให้ถูกต้องและชัดเจนตามข้อกำหนดของวารสาร
  5. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความต้องมีส่วนร่วมในผลงานการวิจัยหรือการศึกษาค้นคว้าจริง (ถ้ามี)
  6. ผู้นิพนธ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการนำเสนอข้อมูลในบทความจะต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย (ถ้ามี)

ผู้ประเมิน (Duties of Reviewers)

  1. ผู้ประเมินต้องรับประเมินบทความในสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ และสามารถให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมใน
    การปรับปรุงบทความให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
  2. ผู้ประเมินต้องประเมินบทความด้วยความเป็นธรรมตามหลักวิชาการของแต่ละสาขาวิชา ไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว และไม่มีอคติในการประเมินบทความ
  3. ผู้ประเมินต้องไม่คัดลอกแนวคิดหรือเนื้อหาในบทความไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ไม่เปิดเผยข้อมูลบทความและข้อมูลสำคัญส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับวารสาร
  4. ผู้ประเมินต้องไม่รับประเมินบทความที่ตนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม หรืออาจมีผลประโยชน์ร่วมกับผู้นิพนธ์
  5. ผู้ประเมินต้องให้ข้อมูลผลการประเมินที่เป็นจริงสะท้อนกลับมายังกองบรรณาธิการ รวมถึงข้อมูลบทความที่มีการเผยแพร่ซ้ำซ้อน ขาดจรรยาบรรณในการอ้างอิง และเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยอื่นทุกกรณี

บรรณาธิการ (Duties of Editors)

  1. บรรณาธิการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความให้สอดคล้องกับขอบเขตและข้อกำหนดของวารสาร และดูแลการการตีพิมพ์เผยแพร่ตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
  2. บรรณาธิการพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความ
  3. บรรณาธิการกำกับดูแลกระบวนการรับ การประเมิน และการแจ้งผลการพิจารณาบทความ ให้เป็นไปตามรอบระยะเวลาที่วารสารกำหนด
  4. บรรณาธิการกำกับดูแลข้อมูลของผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้อมูลอื่นของวารสารให้เป็นความลับไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมิได้รับอนุญาต
  5. บรรณาธิการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอื่นใดกับผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ