แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญ ของจังหวัดอุบลราชธานี: มุมมองแนวคิดด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้แต่ง

  • มัลลิกา บุตรทองทิม
  • ภราดา บุญรมย์

คำสำคัญ:

แหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญ, การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญของจังหวัดอุบลราชธานี: มุมมองแนวคิดด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญของจังหวัดอุบลราชธานี ตามแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญของจังหวัดอุบลราชธานี ตามแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการวิจัยเชิงปริมาณร่วมกับการวิจัยเชิงคุณภาพ
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยววัด ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมเส้นทางบุญจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ วัดหนองป่าพง วัดหลวง วัดพระธาตุหนองบัว วัดมหาวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง วัดศรีอุบล
รัตนาราม วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดเลียบ วัดใต้ วัดถ้ำคูหาสวรรค์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว วัดสระประสานสุข ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 385 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติทีและวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ผลการวิจัยพบว่า 1) ภาพรวมนักท่องเที่ยวมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญของจังหวัดอุบลราชธานี ตามแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.80 เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านหัวใจสีเขียว มีระดับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับดีมาก ค่าเฉลี่ย 4.51 และมีระดับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับมาก ได้แก่ ด้านแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ด้านบริการสีเขียว ด้านการเดินทางสีเขียว ค่าเฉลี่ย 4.11, 3.95, 3.92 ตามลำดับ มีระดับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านชุมชนสีเขียว ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านกิจกรรมสีเขียว ค่าเฉลี่ย 3.45, 3.45, 3.19 ตามลำดับ 2) แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมเส้นทางบุญของจังหวัดอุบลราชธานี ตามแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด 7 Greens ได้แก่ ด้านหัวใจสีเขียว
ควรประชาสัมพันธ์หรือมีกิจกรรมที่ทำให้นักท่องเที่ยวรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านรูปแบบการเดินทางสีเขียว ควรมีบริการรถนำเที่ยวสาธารณะ หรือ มีจักรยานบริการนักท่องเที่ยว มีข้อมูลแสดงเส้นทาง และระยะทางของสถานที่ท่องเที่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ด้านแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ควรมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวรักษาความสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อม การปลูกพืชสมุนไพรและรักษาความร่มรื่นในวัด และแทรกคำสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมในการแสดงธรรมหรือเทศนา ด้านกิจกรรมสีเขียว
ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรม ด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการท่องเที่ยว ด้านชุมชนสีเขียว ควรส่งเสริมให้ชุมชน บ้าน วัด และโรงเรียนมีส่วนร่วมกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยว ด้านการบริการสีเขียว บริษัทนำเที่ยวควรมีส่วนร่วมในการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านความรับผิดชอบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

Author Biographies

มัลลิกา บุตรทองทิม

คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภราดา บุญรมย์

คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

References

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2567). แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2570). สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2567จาก https://province.mots.go.th.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2567). How to be 7 Greens. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2567 จากhttp://7greens.tourismthailand.org/en.html.

ไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว. (2558). แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558 จาก: http://tourism-dan1.blogspot.com.

เกริกไกร นนทลักษณ์. (2562). ศักยภาพโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเกาะช้าง. การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยพะเยา.

ทิพย์กนก เวียงคำ. (2564). รายงานการวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดการโฮมสเตย์ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ชุมชนคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.

ธนวรรณ มงคล. (2558). ทัศนคติของลูกค้าที่มีผลต่อความตั้งใจที่จะเข้าพักและใช้บริการของโรงแรมสีเขียว. วารสารวิทยาลัยดุสิตธานี, 9(1), 37-49.

ประพิณวดี ศิริศุภลักษณ์ และคณะ. (2557). รายงานการวิจัยเรื่องกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสีเขียวเชิงพื้นที่ของเกาะสมุยภายใต้พลวัตของโลก. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

มัลลิกา บุตรทองทิม และศุภกัญญา เกษมสุข. (2558). รายงานการวิจัยเรื่องการกำหนดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเส้นทางบุญเสริมสร้างการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

ลำยอง ปลั่งกลาง. (2559). รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสีเขียว กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง. พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

วิสาขา ภู่จินดา และณัฏฐธิดา พัฒนเจริญ. (2564). การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษา: ชุมชนบ้านสะนำ ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี. Research and Development Journal Suan Sunandha Rajabhat University, 13(2), 301-319.

สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2567). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570). สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2567 จาก https://www.nesdc.go.th.

สำนักงานสถิติจังหวัดอุบลราชธานี. (2567). สรุปสถานการณ์จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2561. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2567 จากhttps://ubon.nso.go.th.

Roscoe, J. T. (1975). Fundamental Research Statistics for the Behavioral Sciences. (2nded.). New York: Holt Rinehart and Winston.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-12-31