จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารรัฐศาสตร์สาร

          “รัฐศาสตร์สาร” เป็นวารสารวิชาการของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมายนำเสนอผลงานที่มุ่งเชื่อมโยงมิติทางทฤษฎีกับมิติทางปฏิบัติเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่เพียงครอบคลุมเฉพาะในหมู่คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา หรือนักวิจัยเท่านั้น หากยังรวมถึงบุคคลทั่วไปนอกวงวิชาการซึ่งมีความจำเป็นในเชิงนโยบาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมิติทางทฤษฎีกับมิติทางปฏิบัติจะช่วยให้เกิดการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึงความต้องการของสังคมยิ่งขึ้น

            กองบรรณาธิการตีพิมพ์วารสาร “รัฐศาสตร์สาร” ปีละ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และฉบับที่ 2 ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม และฉบับที่ 3 ระหว่างเดือนกันยนยาถึงเดือนธันวาคม สำหรับผลงานประเภทบทความวิจัยและบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์

          นอกจากนี้ ในฐานะของวารสารวิชาการที่มีหน้าที่ในการนำเสนอองค์ความรู้ต่าง ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ที่ออกสู่สังคมในวงกว้าง ทำให้วารสารรัฐศาสตร์สาร คำนึงถึงเรื่องของจริยธรรมในการตีพิมพ์ของวารสารในฐานะของวารสารวิชาการเป็นสำคัญ จริยธรรมของวารสารจัดออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมต่อกระบวนการในการดำเนินการของวารสาร โดยแบ่งออกเป็น ผู้นิพันธ์ (Author) บรรณาธิการวารสาร (Editor) และ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Reviewer) เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 กลุ่ม ได้ศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางด้านจริยธรรมของวารสารอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

1. ผลงานที่เสนอต่อวารสารจะต้องเป็นผลงานที่ไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ของวารสารวิชาการอื่น และจะต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน หากมีการตรวจพบการละเมิดกฎดังกล่าวการตัดสินของกองบรรณาธิการวารสารถือเป็นที่สิ้นสุด

2. ผู้นิพันธ์ต้องนำเสนอผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่ให้ข้อมูลของผลการศึกษาที่เป็นเท็จหรือเป็นการให้ร้ายและสร้างความเสื่อมเสียต่อบุคคลอื่น โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นผลงานททงวิชาการ

3. ผู้นิพันธ์ต้องไม่ละเมิด หรือคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) หากมีการตรวจพบการละเมิดกฎดังกล่าวการตัดสินของกองบรรณาธิการวารสารถือเป็นที่สิ้นสุด หากมีการร้องเรียงในเรื่องของการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) วารสารจะมีกระบวนการสอบทานความจริง และหากในกรณีที่คัดลอกผลงานของผู้อื่นมีการฟ้องร้องกันในชั้นศาลหรือในระดับหน่วยงาน วารสารจะงดการเผยแพร่บทความดังกล่าวจนกว่าการพิจารณาของศาลหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ

4. ผู้นิพันธ์พิจารณาแก้ไขบทความตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือทำหนังสือชี้แจ้งเหตุผลที่ผู้นิพันธ์ไม่ทำการแก้ไขตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิแนบกลับมาพร้อมกับไฟล์บทความที่ได้รับการแก้ไขแล้วกลับมาให้กับทางวารสาร และการพิจารณาของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุดของการตัดสินใจทั้งปวง

5. หากเกิดการฟ้องร้องหรือการดำเนินคดีทางกฎหมาย อันเป็นผลมาจากบทความของผู้นิพันธ์ ในกรณีนี้ผู้นิพันธ์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน โดยที่วารสารมิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำใด ๆ

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ในการพิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์ในวารสาร และบรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ สำหรับประเมินบทความที่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร

2. บรรณาธิการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำวารสารต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น รวมถึงต้องไม่เปิดเผยข้อมูลระหว่างผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความเอง โดยไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากมีกรณีที่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ประเมินบทความอย่างเสียมิได้ ต้องทำหนังสือชี้แจ้งผู้ประเมินบทความถึงเหตุแห่งความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวและต้องมีหนังสือตอบอนุญาตจากผู้ประเมินบทความในการยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้นจึงจะเปิดเผยข้อมูลได้

3. บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว และพิจารณาการจัดลำดับบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารแต่ละฉบับ โดยพิจารณาจาก ความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจนและความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

4. บรรณาธิการต้องไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความในวารสารของตนเอง และบรรณาธิการไม่สามารถส่งบท “ความวิจัย” และ “บทความวิชาการ” ของตนเอง มาตีพิมพ์ในวารสารของตนเอง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม

5. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

1. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณา แก่บุคคลอื่นไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือห้ามไม่ให้มีการนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนของบทความไปใช้ประโยชน์เป็นการส่วนตัวในกรณีที่บทความยังมิได้เผยแพร่อย่างงเป็นทางการ

2. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสารแล้วผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความตระหนักได้ว่า ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อผู้นิพนธ์ ด้วยความคุ้นเคยของสำนวนโวหารหรือเป็นผู้ร่วมโครงการวิจัยด้วยกัน เช่น เป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์ เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น

3. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ทั้งจากการศึกษา วิจัย  การเขียนหนังสือ-ตำรา หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากการประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ มาเป็นเวลานาน และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องพิจารณาบทความภายใต้กรอบระยะเวลาที่ทางกองบรรณาธิการได้กำหนด