การอุดหนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าการเป็นเพียงแค่มหาวิทยาลัยเพื่อการสั่งสอนมนุษย์  สถาบันการศึกษาระดับสูงไหนสมควรจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นนั้นจะใช้เกณฑ์อะไร?  National Science Foundation ที่ตั้งขึ้นในทศวรรษที่ 1950 จะให้ทุนกับคณะไหนของมหาวิทยาลัยไหนถึงจะได้รับผลลัพธ์ที่คุ้มค้าที่สุดคือคำถาม ในทศวรรษที่ 1960 การจัดอันดับสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ได้ค่อยๆ กลายมาเป็นวิถีทางสำคัญเบื้องต้นของการให้ทุนกับองค์กรการศึกษาและวิจัยต่างๆ ในกลางทศวรรษที่ 1960 การประเมินการศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยที่มีมากมายด้วยวิธีการสำรวจและตัวเลขเป็นแนวทางสำคัญ 

จากงานของ Slosson ในทศวรรษที่ 1910 จนถึงทศวรรษที่ 1960 ความนิยมในการศึกษาเชิงคุณภาพเปลี่ยนไปเป็นแนวทางเชิงปริมาณ  ท่ามกลางมหาวิทยาลัยที่มากมายในตลาดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาตัวเลขคือความสะดวกต่อความเข้าใจและการประเมิน  วิถีแห่งการจัดอันดับผ่านตัวเลขคือถนนของการแสวงหาความสุดยอดทางวิชาการ (academic excellence) 

มหาวิทยาลัยแต่ละที่ในสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกัน  ในทศวรรษที่ 1960 มหาวิทยาลัยทางใต้ถูกจัดให้อยู่ในสถานะที่ต่ำ  เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงก่อนที่จะตามมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ทัน ความคิดเหล่านี้ปรากฏใน Cartter Report An Assessment of Quality in Graduate Education (1964) ภายใต้การกำกับของนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญด้านการศึกษา Allan M. Cartter (1922-1976)

เป้าหมายของความเป็นสุดยอดคือมนุษย์ที่สุดยอด มนุษย์ผู้แสวงหาความสุดยอด (excellence) การขยายฐานของการศึกษาระดับสูงไปสู่ผู้คนในสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมนุษย์แบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นแค่พลเมืองผ่านกลไกการศึกษาภาคบังคับ  มนุษย์ผู้ถูกสร้างให้มีเป้าหมาย (goal-oriented) มนุษย์ผู้มีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จ (achievement) คือมนุษย์แบบใหม่  ความสำเร็จที่บ่งบอกถึงความเป็นสุดยอด

หนังสือ The Achieving Society (1961) ของนักจิตวิทยาอเมริกัน David C. McClelland คือหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในการบ่งบอกถึงความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์แบบใหม่ ถึงแม้ว่ารากฐานความคิดเรื่องแรงจูงใจที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จตามแนวความคิดของ McClelland โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงจูงใจในการที่จะเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) นั้นจะปรากฏมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1950 แล้วก็ตาม  แนวความคิดเรื่องแรงจูงใจที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จที่ยังแยกไม่ออกจาก “อำนาจ” ของ McClelland นั้นดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับความคิด “ลำดับชั้นความต้องการ” (hierarchy of needs) ของนักจิตวิทยาอเมริกันเชื้อสายยิว Abraham H. Maslow 

ความสำเร็จที่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จ แต่ยังหมายถึงความเป็นหนึ่งหรือความเป็นสุดยอด ‘Excellence’ การปรับปรุงตัวให้สามารถไต่บันไดขึ้นไปเรื่อยๆ คือหนทางสำคัญของชีวิตที่ไม่มีวันหยุดอยู่กับที่  เพราะการหยุดคือการถดถอย  ชีวิตวันนี้จึงดีกว่าเมื่อวาน  พรุ่งนี้ก็จะต้องทำให้ดีกว่าวันนี้  การทำให้ชีวิตพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้คือวิถีทางสำคัญของโปรเตสแตนท์อเมริกัน  มหาวิทยาลัยจะเป็นต้นแบบทางจริยธรรมที่สำคัญของการแสวงหาความสุดยอด  มหาวิทยาลัยเป็นกลไกสำคัญในการปลูกฝังให้มนุษย์ที่จะเป็นหน่วยสำคัญทางการผลิตมีเป้าหมายที่ความเป็นสุดยอด  จากมนุษย์ไปจนถึงองค์กรทุกระดับความเป็นสุดยอดคือเป้าหมายที่ทุกๆ คนสามารถที่จะบรรลุถึงได้

การแสวงหาความเลิศ ความสุดยอด (excellence) เหมาะกับความยิ่งใหญ่ของผู้คนในประเทศที่ได้รับการเลือกจากพระผู้เป็นเจ้าแบบสหรัฐอเมริกา  ในประเทศพิเศษก็จะมีคนพิเศษที่แสดงความสามารถที่เป็นสุดยอด  ในช่วงเวลาก่อนศตวรรษที่สิบแปดคนพิเศษเหล่านี้คือบุคคลที่ได้รับพลังจากพระผู้เป็นเจ้า  ในราวศตวรรษที่สิบแปดกรอบความคิด ‘genius’ เป็นคำอธิบายที่ได้รับความนิยม เช่น Essays on Genuis (1774) ของ Alexander Gerard (1728-1795)  ภายใต้พลังของพันธุกรรมและวิวัฒนาการมนุษย์พิเศษในศตวรรษที่สิบเก้ามีคุณสมบัติทางพันธุกรรมที่พิเศษ  ดัชนีชี้วัดความพิเศษแสดงให้เห็นใน IQ

ส่วนพลังของสิ่งแวดล้อมเองก็มีบทบาทสำคัญ  ในห่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่สิบเก้ามาจนถึงศตวรรษที่ยี่สิบวิชาจิตวิทยาพยายามอธิบายความยิ่งใหญ่ที่สุดแสนพิเศษของคนพิเศษ  จากพันธุกรรม ครอบครัว การเลี้ยงดู ไปจนถึงการศึกษา ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการเป็นคนพิเศษ  ภูมิหลังทางการศึกษาที่ทำให้คนพิเศษบ่งบอกถึงความพิเศษของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาระดับสูง  ลำดับชั้นของมหาวิทยาลัยชั้นนำมีส่วนสำคัญในการสร้างความพิเศษสุดยอดเหล่านี้  ท่ามกลางกรอบคิดและข้อถกเถียง ‘nature v.s. nurture’ ทำให้มหาวิทยาลัยในฐานะส่วนของ ‘nurture’ มีบทบาทสำคัญในการสร้างคนพิเศษสุดยอด ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ความพิเศษสุดยอดนั้นเป็นสิ่งที่สร้างได้

อัจฉริยะสร้างได้โดยผ่านการศึกษา  มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสถาบันสำคัญในการสร้างคนพิเศษสุดยอดเหล่านี้ แต่มหาวิทยาลัยไหนที่มีความสามารถสร้างคนมีชื่อเสียงดังกล่าวได้คือคำถาม  ภูมิหลังของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญ  การมีศิษย์เก่าดีเด่นจะเป็นตัวชี้วัดชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา  วิทยาลัยแห่งนี้ผลิตนายกรัฐมนตรีกี่คนหรือได้โนเบลกี่คนเป็นตัวอย่างที่ดี  Who’s Who in America จะเป็นข้อมูลสำคัญ  การใช้ชื่อเสียงเป็นแนวทางในการจัดลำดับชั้นของมหาวิทยาลัยยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในทศวรรษที่ 1950 โดยยังเป็นที่นิยมจนถึงทศวรรษที่ 1980

ในทศวรรษที่ 1980 การจัดลำดับชั้นของมหาวิทยาลัยไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาหรือนักวิชาการเท่านั้น  เมื่อสื่ออย่าง US News and World Report เข้ามาสู่สนามการจัดอันดับสถาบันการศึกษาในปี ค.ศ.​1983   สถาบันการศึกษาไหนมีชื่อเสียงกลายมาเป็นกิจกรรมที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน  โดยมีเป้าอยู่ที่ระดับปริญญาตรี  แต่สำหรับผู้จ่ายเงินเรียนก็จะต้องพิจารณาว่าสถาบันไหนคุ้มค่าในการลงทุน  นิตยสารด้านการเงินก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ผู้บริโภครู้ว่าจ่ายเงินไปแล้ว สถาบันการศึกษาไหนคุ้มค่าที่สุด ‘Best Value Schools’ ‘America’s Best College Buys’ เช่น https://money.com/best-colleges/ เป็นต้น  บริษัทสื่อต่างๆ จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย เช่น Forbes Wall Street Journal เป็นต้น

ครั้นเมื่อการศึกษาระดับสูงหรือมหาวิทยาลัยเป็นธุรกิจทำเงินระดับนานาชาติ  ประเทศทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษก็จะได้เปรียบกว่าประเทศที่ใช้ภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาฮังการี เป็นต้น  จากอังกฤษถึงสหรัฐอเมริกาและไล่มาออสเตรเลียสินค้าสำคัญคือภาษาอังกฤษ  การศึกษาระดับสูงในประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็จำเป็นที่จะต้องหันมาใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน  ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ลูกค้าจากต่างแดน  การจัดอันดับก็ช่วยทำให้คนต่างชาติที่จะสมัครเรียนได้เข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน เหมาะสมที่จะสมัครเรียนที่ใด 

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยขยายตัวออกไปสู่ระดับโลกในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  ถึงแม้ว่า Quacquarelli Symonds (QS) จะทำหน้าที่ในการบริการข้อมูลให้กับนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 แล้วก็ตาม  แต่ธุรกิจการจัดอันดับยังไม่ได้ขยายตัวออกสู่ระดับโลก จนกระทั่ง QS จับมือกับนิตยสาร Times Higher Education ในปี ค.ศ. 2004 ชื่อของหนังสือพิมพ์ด้านการศึกษาที่ก่อตั้งมาในปี ค.ศ. 1971 นั้นก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นของสื่อหนังสือพิมพ์ The Times แห่งประเทศอังกฤษ  แต่ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนมืออยู่เสมอๆ  ในปลายทศวรรษที่ 2000 Times Higher Education หันไปจับมือกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจสื่อ Thomas Reuters แทน QS แต่ในต้นทศวรรษที่ 2010 Times Higher Education หันมาจับมือกับธุรกิจสิ่งพิมพ์วิชาการอย่าง Elsevier

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย

เผยแพร่แล้ว: 2024-12-02