“รัฐศาสตร์สาร” เป็นวารสารวิชาการฉบับแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนนานาทัศนะในหมู่นักวิชาการและเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ทั้งในรูปบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความแปล และบทปริทัศน์หนังสือ Print ISSN : 0125-135X
ฉบับปัจจุบัน
ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (2567): รัฐศาสตร์สาร
บทบรรณาธิการ
เส้นทางความคลั่งการจัดอันดับ
ตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของยุโรปตะวันตกไล่ไปจนถึงการขยายตัวของยุโรปที่ยังนำมหาวิทยาลัยไปสู่ดินแดนในทวีปอเมริกาก็ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนา มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ศาสนาจักรภายใต้พระผู้เป็นเจ้า มหาวิทยาลัยแบบ Ivy League หลายสถาบันของสหรัฐอเมริกาจึงมีสายสัมพันธ์กับศาสนาเป็นพื้นฐาน ปฏิบัติการขององค์กรทางศาสนาแบบคริสตจักรที่ยังปฏิบัติการภายใต้การขยายตัวของอาณาจักรคริสต์ (Christendom) มาตั้งแต่เริ่มแรกทรงพลังมาหลายร้อยปี นับตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Age) เป็นต้นมาปฏิบัติการต่างๆ ขององค์กรทางศาสนายังได้ถูกส่งทอดไปยังองค์กรทางการเมือง
เมื่ออำนาจของศาสนาถดถอยลงในศตวรรษที่สิบเก้ามหาวิทยาลัยก็ตกเป็นเครื่องมือทางอำนาจรัฐของรัฐประชาชาติ (nation-state) มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เสริมสร้างความยิ่งใหญ่ของอำนาจรัฐ เช่น วิศวกรรม เป็นต้น ครั้นเมื่ออำนาจรัฐค่อยๆ เปลี่ยนมือจากเหล่าอดีตชนชั้นนักรบ (warrior class) มาเป็นพื้นที่ของพ่อค้าสถาบันการศึกษาเพื่อธุรกิจก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น Ca’ Foscari University of Venice (1868) Wharton School of Business (1881) ที่ University of Pennsylvania สำหรับวิทยาลัยธุรกิจที่เป็นของรัฐในสหรัฐอเมริกาก็ได้แก่ Haas School of Business (1898) University of California, Berkeley เป็นต้น สาขาวิชาต่างๆ ก็ค่อยๆ อุบัติขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรมและรัฐประชาชาติ
รัฐประชาชาติเป็นกลไกสำคัญในการขยายอำนาจของกลุ่มพ่อค้าและนายทุนที่ต้องการเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ข้อความที่ว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นจึงเป็นประโยคสำคัญของศตวรรษที่สิบเก้า การต่อสู้เพื่อให้เศรษฐกิจเป็นตัวนำและเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐของเหล่าชนชั้นพ่อค้าและนายทุนย่อมเป็นหนทางสำคัญ ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคมในทศวรรษที่ 1970 กลับเปิดทางให้การสถาปนาอำนาจของเสรีนิยมใหม่ จนทำให้เกิดประโยค ‘There is no alternative’. ความเป็นอิสสระของภาคเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของรัฐจึงเป็นไปได้มากขึ้น
การสร้าง ‘มนุษย์เสรีนิยมใหม่’ เป็นสิ่งจำเป็น การสร้างมนุษย์เสรีนิยมใหม่เป็นการทำให้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ไม่เป็นเพียงแค่ตัวอักษรในหนังสือและวารสารวิชาการ เสรีนิยมใหม่ในฐานะวิถีชีวิตประจำวันเป็นวิถีทางสำคัญ อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่กลายเป็นชีวิตจิตใจคือปฏิบัติการที่จะต้องทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับการกินอาหารหรือขับถ่าย
การทำให้มหาวิทยาลัยที่ตอบสนองต่อศาสนจักรและต่อมารัฐประชาชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นการตอบสนองต่อระบบตลาดเสรีคือสิ่งจำเป็น อุดมการณ์โลภาวิตน์ (globalization) คือปฏิบัติการสำคัญของทุนนิยมของโลกพูดภาษาอังกฤษ (English speaking capitalism) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกในการทะลุทะลวงดินแดนต่างๆ ตั้งแต่ยุโรปเหนือไปจนถึงเหล่าประเทศยากจนทั้งหลาย มหาวิทยาลัยในฐานะตัวขับเคลื่อนรัฐที่สำคัญที่เคยปฏิบัติการแบบองค์กรรัฐจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นแบบองค์กรเอกชน โดยการปรับตัวนี้ก็พร้อมจะเป็นหน่วยปฏิบัติการให้กับเสรีนิยมภายใต้นามแบบ ‘agency’
วิถีปฏิบัติที่เคยตอบสนองต่อสาธารณะประโยชน์ตามสำนึกแบบรัฐประชาชาติต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การแข่งขันเพื่อแสวงหากำไร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้องค์กรมหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการรายได้ของตัวเองและเสริมสร้างขีดความสามารถให้ได้ผลิตผลที่ดีที่สุดและมากที่สุด บนเส้นทางของเสรีนิยมใหม่แบบอเมริกันมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา เมื่อตอน Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันสายเสรีนิยมใหม่คนสำคัญเดินทางไปประเทศชิลี เขาปฏิเสธปริญญากิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยของรัฐจะมอบให้
องค์กรมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานเพื่อสร้างผลิตผลที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ การจัดอันดับ (ranking) เป็นกลไกสำคัญเพื่อเสริมสร้างการแข่งขัน การจัดอันดับได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตประจำวัน ไม่มีอะไรที่จัดอันดับไม่ได้ ตั้งแต่รัฐประชาชาติ สถานที่ท่องเที่ยว นิตยสาร ไล่ไปจนถึงสัตว์ ทุกๆ อย่างสามารถนำมาจัดอันดับได้หมด
สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีบทบาทสำคัญก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแต่อย่างใด เพราะสถาบันการศึกษาระดับสูงจะได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยครบถ้วนหรือไม่ต่างหากที่เป็นประเด็น นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้าจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปัญหาของมหาวิทยาลัยว่ามี ‘มาตรฐาน’ หรือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือหรือไม่เป็นประเด็นสำคัญ สถาบันการศึกษา X สามารถเรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยหรือไม่?
มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับหรือไม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ สถาปัตยกรรมหรือตึกไปจนถึงห้องสมุด ห้องทดลอง ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับในส่วนของการศึกษา เช่น มีบัณฑิตวิทยาลัย (Graduate School) เป็นต้น มหาวิทยาลัยที่สร้างใหม่ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างตึกให้ดูเก่าประหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในยุโรป ทั้งนี้ความนิยมที่จะเรียนต่อระดับสูงในมหาวิทยาลัยของยุโรปยังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม ถึงแม้ว่าการศึกษาระดับปริญญาเอกจะมีปรากฎในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาในครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้าแล้วก็ตาม
การรับรองวิทยาฐานะหรือการรับรองจากหน่วยงานประเมินมาตรฐานของสถาบันการศึกษา เช่น รัฐ เป็นต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ สถาบันใดสมฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยคือเรื่องสำคัญ ดัชนีตัวไหนที่จะบ่งชี้ว่าเป็น ‘university’ หรือเป็น ‘college’ เช่น เงินทุน ขนาด ผลงานวิชาการผลิตออกมา? เมื่อ Edwin Emery Slosson (1865-1929) ผลิตผลงาน Great American Universities (1910) ในบทนำชี้ให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วกลับมาก็ไม่อยากเชื่อในการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย (p. vii)
คำกล่าวของเหล่าอดีตอธิการบดี Harvard University ก่อนหน้า Charles William Eliot ที่กล่าวในโบสถ์ว่าพระผู้เป็นเจ้า “bless Harvard College and all inferior institutions” นั้นไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ปริมาณนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวอย่างมาก (p.1) การท้าทายจากมหาวิทยาลัย ‘เกิดใหม่’ เป็นไปได้เสมอ แม้ว่าจะไม่ใช่สาขาวิชาดั้งเดิม วิศวกรรมไม่ใช่วิชาของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ แต่เป็น เช่น Massachusetts Institute of Technology เป็นต้น
การเปรียบมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐอเมริกาโดย Slosson ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ยี่สิบชี้ชัดว่าแผนพังและสถิติไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับสิ่ง “เทียบเคียงกันไม่ได้” (incommensurable) และ “สิ่งที่นับไม่ได้” (uncountable) (p.474) แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอเปรียบเทียบผ่านตัวเลข ถึงกระนั้นสำนึกเรื่องคุณภาพว่ามหาวิทยาลัยอะไรที่ดีกว่าหรือต่ำกว่าแบบสำนึกของเหล่าอดีตอธิการบดี Harvard University ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เลือนหายไปไหน ลำดับชั้นของสถาบันการศึกษายังคงความสำคัญ
ภายการขึ้นมามีอำนาจของสถิติหรือที่พวกอังกฤษเรียกว่า ‘political arithmetic’ ในสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป (European modernity) การประเมินลำดับชั้นจะมีความชัดเจนและน่าพึงปรารถนามากยิ่งขึ้นเมื่อปรากฏออกมาในรูปของตัวเลข การจำแนกสรรพสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ด้วยตัวเลขภายใต้นามการศึกษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันที่ได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายปฏิบัติการของรัฐและองค์กรเอกชน
สำหรับรัฐประชาชาติมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยเป็นสถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร โครงการระเบิดปรมาณูภายใต้การนำของ J. Robert Oppenheimer ชี้ชัดถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการมีชัยชนะต่อศัตรู สงครามเย็น (Cold War) เพิ่มบทบาทของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ การต่อสู้ของระบบทุนนิยม-เสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ทำให้การเสริมสร้างความเป็นเลิศในทุกๆ มิติเป็นเรื่องจำเป็น การพิสูจน์ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมเห็นว่าระบบทุนนิยม-เสรีประชาธิปไตยเหนือกว่าคือหนึ่งในเป้าหมาย
การแข่งขันทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครองความเป็นเจ้าในอวกาศคือสนามประลองความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่จะเพิ่มและขยายความรู้ออกไปสู่ดินแดนที่ไม่มีมนุษย์ในอดีตรู้จักเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีทางการทหาร นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากการวิจัยทางการทหารสามารถยังนำไปต่อยอดด้านพาณิชย์อื่นๆ ได้อีกด้วย อำนาจทางการทหารที่เป็นหัวใจของรัฐ สำหรับมหาอำนาจแบบสหรัฐอเมริกาอำนาจทางการทหารคือองค์ประกอบสำคัญ
ธเนศ วงศ์ยานนาวา
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย
เผยแพร่แล้ว: 2024-08-20
ฉบับเต็ม
Articles
“รัฐศาสตร์สาร” เป็นวารสารวิชาการฉบับแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนนานาทัศนะในหมู่นักวิชาการและเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ทั้งในรูปบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความแปล และบทปริทัศน์หนังสือ