ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของการมีมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากร ในโรงเรียนประถมศึกษา

Main Article Content

ลักขณา กำแพงแก้ว
พิชญาภา ยืนยาว

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา และ 3) ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูล 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน ประกอบด้วยผู้บริหารของรัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการและครู ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 374 แห่ง ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนละ 1 คน ครู โรงเรียนละ 1 คน และตัวแทนกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนละ 1 คน รวมผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,122 คน ได้มาโดยการ


สุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถามความคิดเห็นที่สร้างขึ้น โดยผู้วิจัยเป็นแบบชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 0.80 และ 1.00 มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.968 วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ และระยะที่ 4 เก็บข้อมูลโดยการตรวจสอบและยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา ด้วยวิธีอ้างอิงโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน  ประกอบด้วย 1) ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยของรัฐ 2) ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน 3) ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นครู ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือวิจัย คือ แบบตรวจสอบรายการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา


ผลการวิจัยพบว่า 1) องค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ ได้แก่ การบริหารความขัดแย้งและการทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำและการติดต่อสื่อสาร วัฒนธรรมองค์การและการบริหารการเปลี่ยนแปลงการสร้างแรงจูงใจ การบริหารเชิงกลยุทธ์ ธรรมาภิบาล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนประถมศึกษา ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญสอดคล้องกันทุกคนว่ามีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ มีความถูกต้อง ครอบคลุม และมีประโยชน์ในการนำไปใช้                                                                                                     

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความวิจัย