การปรับวงดนตรีไทย กรณีศึกษา ครูไชยยะ ทางมีศรี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการปรับวงดนตรีไทย กรณีศึกษา ครูไชยยะ ทางมีศรี มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวทางการปรับวงดนตรีไทย ของครูไชยยะ ทางมีศรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ การสังเกต มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารและข้อมูลภาคสนาม ข้อมูลภาคสนามได้จากการสัมภาษณ์ การสังเกต จากผู้ปรับวง 1 คน และกลุ่มผู้บรรเลง 3 คน ในเขตพื้นที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563 นำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบความถูกต้องด้วยวิธีการแบบสามเส้า วิเคราะห์ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ และนำเสนอผลการวิจัย ด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของครูไชยยะ ทางมีศรี มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการคัดเลือกเพลง การคัดเลือกผู้บรรเลง และการเตรียมตัวของผู้บรรเลงก่อนการปรับวง ซึ่งในการคัดเลือกเพลง ต้องคำนึงถึงโอกาส เวลาที่จะใช้ในการบรรเลง และมีการศึกษาองค์ประกอบของเพลงเพื่อกำหนดเพลงให้เหมาะสมในกิจกรรมนั้น ๆ การคัดเลือกผู้บรรเลง ต้องคำนึงถึงทักษะ ของผู้บรรเลงให้มีทักษะอยู่ในระดับเดียวกันเพื่อความสะดวกในการปรับวง และการเตรียมตัวของผู้บรรเลงก่อนการปรับวง ผู้บรรเลงต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องเพลงนั้น ๆ มีความรู้ขั้นพื้นฐานในเรื่องทำนองหลักและการแปรทำนอง
สำหรับขั้นตอนการปรับวงของครูไชยยะ ทางมีศรี ในเพลงโหมโรงไอยเรศ เพลงเขมรไทรโยค สามชั้น และเพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น จะเน้นการบรรเลงที่มีความไพเราะและเรียบร้อย ของสำนวนกลอน และจะแตกต่างกันไปที่ลักษณะการบรรเลง สำหรับเพลงโหมโรงไอยเรศ มีการปรับทำนองหลักให้เหมือนกันปรับบทบาทในการบรรเลงให้แต่ละเครื่องแปรทางอย่างอิสระตามความเหมาะสม และมอบหมายบทบาทหน้าที่ของแต่ละเครื่องมือ คือ
ให้ขลุ่ยเป็นผู้บรรเลงขึ้นเพลง ส่วนวิธีการลงจบเพลงจะลงพร้อมกันทุกเครื่องมือ แต่ระนาดเอกสามารถมีวิธีในการบรรเลงลงเพลงที่หลากหลายกว่าเครื่องมืออื่นโดยใส่กลวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การสะบัด สะเดาะ ขยี้ รัว ในแต่ละท่อน ทุกเครื่องมือสามารถใส่กลวิธีพิเศษเข้าไปในทำนองเพลงได้ เพลงเขมรไทรโยค สามชั้น ต้องบรรเลงทำนองหลักให้มีความเรียบร้อยพร้อมเพรียงของทุกเครื่องมือ มีการแปรทางเล็กน้อยในส่วนของ ระนาดเอก ซออู้ และขลุ่ย มีกลวิธีพิเศษในเครื่องดนตรีประเภทตี คือ การตีสงมือ หรือการบรรเลงกึ่งข้อกึ่งแขน มีการสะบัด และการบรรเลงทางเก็บของเครื่องดนตรีประเภทระนาดเอก เพื่อให้เพลงเกิด ความไพเราะ
มีความกลมกลืนของเสียง และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น มีการปรับบทบาทในการบรรเลงของแต่ละเครื่องมือ คือ ให้ฆ้องวงใหญ่เป็นผู้ดำเนินทำนองหลัก ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ สามารถแปรทำนองได้อย่างอิสระตามความสามารถของผู้บรรเลงที่เป็นทำนองเฉพาะ ของแต่ละเครื่องมือและมีความแตกต่างกันของสำนวนกลอนในแต่ละท่อน โดยสำนวนกลอน มีความสอดคล้อง กลมกลืนกับทำนองหลัก ในส่วนของการว่าดอก จะให้ซออู้เป็นผู้บรรเลง ซึ่งในเพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น ครูไชยยะ ทางมีศรี ได้ใส่กลวิธีพิเศษต่าง ๆ สอดแทรกเข้าไป คือ ให้ระนาดเอกบรรเลงขยี้ในการรับร้อง และการบรรเลงลูกหมด สองชั้นตามแบบแผนของดนตรีไทย
Article Details
References
กณพ กิ้มเฉี้ยง. (2560). การปรับวงปี่พาทย์เสภาของครูประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์.
ไชยยะ ทางมีศรี. (2562, 5 พฤศจิกายน). ศิลปินอาวุธโส ข้าราชการบำนาญ, สำนักการสังคีตกรมศิลปากร. สัมภาษณ์.
ทวีศักดิ์ อัครวงศ์. (2562, 8 พฤศจิกายน). ดุริยางค์ศิลปินระดับอาวุโส, สำนักการสังคีต
กรมศิลปากร. สัมภาษณ์.
นัฐพงศ์ โสวัตร. (2544). การปรับวงดนตรีไทย. วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 20(1), 53 – 55.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย : ภาคคีตะ-ดุริยางค์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี. (2562, 8 พฤศจิกายน). ดุริยางค์ศิลปินระดับอาวุโส, สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์.
วีระ พันธุ์เสือ. (2544). เทคนิคการปรับวงของครูประสิทธิ์ ถาวร เพลงชุดฝรั่งรำเท้า. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สงัด ภูเขาทอง. (2532). การดนตรีไทยและทางเข้าสู่ดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
สุทธภพ ศรีอักขรกุล และ บุษกร บิณฑสันต์. (2559). กลวิธีการปรับวงปี่พาทย์ไม้นวม เครื่องคู่ ตามแนวทาง ครูบรรพต แจ้งจรัส กรณีศึกษาโรงเรียนราชวินิต บางแก้ว. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 3(1), 87-94.
สุรสิทธิ์ เขาสถิตย์. (2562, 8 พฤศจิกายน). ดุริยางค์ศิลปินระดับอาวุโส, สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์.
เอกสิทธิ์ สุนิมิต และคณะ. (2559). การปรับวงเพื่อการประชันสำหรับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง. พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.