รูปแบบการใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันของกลุ่มรถรับจ้างสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • เสกสรร ทายะรังษี สาขาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • พนมสิทธิ์ สอนประจักษ์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                   การวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาปรากฏการณ์การใช้เทคโนโลยีสื่อใหม่ในชีวิตประจำวันของกลุ่มอาชีพรับจ้างภาคบริการในสังคมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพบริบท สภาพการดำเนินชีวิตประจำวัน รูปแบบการใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือ รวมถึงผลกระทบจากการนำเอาโทรศัพท์มือถือมาใช้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มรถรับจ้างสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ โดยอาศัยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การใช้แบบจดบันทึกการใช้งานโทรศัพท์มือถือประจำวัน ตลอดจนใช้การสังเกตการณ์ทั้งแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม 
                   ผลการศึกษาสภาพบริบทและวิถีชีวิตประจำวันของรถรับจ้างสี่ล้อแดงนั้น พบว่า จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ของรถรับจ้างสี่ล้อแดง ซึ่งจากอดีตเคยเป็นยานพาหนะเพื่อให้บริการรับส่งคนในท้องถิ่น ปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นยานพาหนะเพื่อบริการการท่องเที่ยว และได้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของรถรับจ้างสี่ล้อแดงที่ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปใน หลากหลายด้าน เช่น ความจำเป็นในการพัฒนาทักษะในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทักษะความรู้ด้านข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ตลอดจนถึงเส้นทางคมนาคมที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา อันเนื่องจากการขยายตัว ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดวิถีชีวิตที่ต้องติดต่อสื่อสารกับกลุ่มสังคมที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ กลุ่มสถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวโรงแรมที่พัก ตลอดจน กลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพรถรับจ้างสี่ล้อแดง
                    ผลการศึกษาด้านสภาพการณ์การใช้โทรศัพท์มือถือของกลุ่มรถรับจ้างสี่ล้อแดงในปัจจุบันนั้น หากแบ่งตามลักษณะการยอมรับเทคโนโลยี พบว่า ในกลุ่มเจนเนอเรชั่นวาย (Gen Y) จัดอยู่ในกลุ่มทันสมัย (early majority) เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Gen X) จัดอยู่ในกลุ่มตามสมัย (late majority) และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ (baby boomer) จัดอยู่ในกลุ่มล้าสมัย (laggards) โดยพบช่องว่างทางดิจิทัล (digital divide) ในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ที่มีลักษณะทำงานแบบขับตระเวนรับส่งผู้โดยสารรอบเมืองมากที่สุด ในด้านลักษณะการใช้ประโยชน์นั้น โทรศัพท์มือถือถูกใช้ในฐานะเครื่องมือในการประกอบอาชีพ (instrument) มุ่งเน้นคุณค่าเชิงประโยชน์ใช้สอย (use value) เป็นหลัก โดยฟังก์ชั่นการทำงานที่ถูกใช้มากที่สุดคือ ฟังก์ชั่นด้านการสื่อสาร ในรูปแบบการโทรสนทนาด้วยเสียงแบบปกติ (voice) และเสริมด้วยการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ (data) ส่วนฟังก์ชั่นที่ถูกปฏิเสธการใช้งานคือ ฟังก์ชั่นทางด้านบันเทิง เช่น เกม ระบบเล่นเพลง หรือภาพยนตร์ นอกจากนั้น โทรศัพท์มือถือยังได้ถูกปรับประยุกต์ในการทำงานอย่างหลากหลายและสอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยเน้นการเข้าถึงข้อมูลด้านการประกอบอาชีพเป็นหลัก 
                     ผลการศึกษาด้านผลกระทบของการนำโทรศัพท์มาใช้นั้น พบทั้ง ผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับกลุ่มสังคม โดยในด้านปัจเจกบุคคลในมิติทางเศรษฐกิจพบว่า โทรศัพท์มือถือได้ก่อให้เกิดโอกาสทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการขยายศักยภาพและประสบการณ์อย่างหลากหลาย นอกจากนั้น ในระดับกลุ่มสังคมพบว่า โทรศัพท์มือถือได้ส่งผลต่อระดับความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นกับคนในครอบครัวและในกลุ่มรถรับจ้างสี่ล้อแดง ทั้งนี้ระดับผลกระทบดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละบุคคลด้วย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

29-11-2018