โครงสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อ: ช่องว่างที่ครูต้องเติม...เพื่อผู้เรียนเท่าทันสื่อ

ผู้แต่ง

  • ประไพพิศ มุทิตาเจริญ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                  บทความนี้เขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความผลการศึกษาบางส่วน ที่ได้จากผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาความตระหนักและความรู้ของผู้สอนเรื่อง เท่าทันสื่อของเยาวชนในจังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2556 โดยวิเคราะห์เงื่อนไขที่ส่งผลต่อ ประสิทธิภาพการสอนเรื่องการเท่าทันสื่อของครู (media literacy) รวมทั้งเสนอแนะทางออกในการคลี่คลายปัญหา
                  ประเด็นความเห็นของครูผู้สอนจากผลงานวิจัยดังกล่าว ส่วนใหญ่ได้สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อของครูอย่างน้อยสองประการที่สำคัญคือ ประการแรก ข้อจำกัดของการใช้ประสบการณ์ตรงในการสร้างองค์ความรู้ และทักษะเรื่องการเท่าทันสื่อของครูในจังหวัดปทุมธานี และข้อจำกัดประการที่สอง การขาดโครงสร้างความรู้ (knowledge structure) เกี่ยวกับสื่อของครูผู้สอนในจังหวัดปทุมธานี
                 เมื่อพิจารณาข้อจำกัดทั้งสองประการ พบว่า ถึงแม้ครูมีความพยายามในการสร้างทักษะเท่าทันสื่อให้กับนักเรียน โดยสอดแทรกเข้าไปในวิชาต่างๆ แต่ โรงเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดปทุมธานียังไม่มีนโยบายในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ สื่อหรือการเท่าทันสื่ออย่างเป็นทางการให้กับครูผู้สอน หากแต่เป็นความตั้งใจและความสนใจของครูผู้สอนที่บูรณาการทักษะชีวิตของตนเอง ผ่านประสบการณ์ตรงจากการสังเกต การสัมผัสกับปัญหาในการเสพสื่อของเยาวชน เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างองค์ความรู้เท่าทันสื่อแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเป็นต้นทางในการถ่ายทอดความรู้และทักษะเรื่องการเท่าทันสื่ออย่างรอบด้านให้แก่เยาวชน
                 นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างความรู้ด้านสื่อของครูผู้สอนในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งถือเป็นความรู้พื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงข้อดี ข้อเสีย และเงื่อนไขในการใช้งานของสื่อ ซึ่งหากครูผู้สอนขาดองค์ความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องในเรื่องนี้แล้ว การต่อยอดเรื่องทักษะการรู้เท่าทันสื่อของผู้สอนให้กับผู้เรียนจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
                 ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนของครู ในเรื่องความรู้และทักษะการเท่าทันสื่อให้เยาวชน 4 ประการดังต่อไปนี้
                 1. ครูผู้สอนต้องมีโครงสร้างความรู้พื้นฐานในเรื่องสื่อ (knowledge structure) และความรู้เกี่ยวกับทักษะการเท่าทันสื่อที่ครบถ้วน ได้แก่ การวิเคราะห์ (analysis) การตีความ (interpretation) การประเมินสาร (evaluation) และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ร่วมกับการใช้กระบวนการทางความคิด (cognitive process) ซึ่งจะทำให้มีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเรื่องเท่าทันสื่อที่ชัดเจนและมีประสิทธิผล
                 2. องค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในกระทรวงศึกษาธิการ ควรมีนโยบายการอบรมความรู้และทักษะการเท่าทันสื่อที่ถูกต้อง เป็นระบบ และต่อเนื่องให้กับครูผู้สอน
                3. ครูผู้สอนควรฝึกทักษะการเท่าทันสื่อให้เป็นทักษะชีวิต โดยแทรกทักษะเข้ากับชีวิตประจำวัน เพื่อ เสริมศักยภาพการเท่าทันสื่อของตนเองให้มีความเชี่ยวชาญ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
               4. โรงเรียนควรมีการประเมินประสิทธิภาพของความรู้และทักษะการ เท่าทันสื่อของนักเรียนและครูผู้สอนอย่างเป็นรูปธรรม
                

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-11-2018