การสร้างตัวชี้วัดคุณภาพรายการไทยพีบีเอสตามมาตรฐานสื่อสาธารณะ
คำสำคัญ:
-บทคัดย่อ
การสร้างตัวชี้วัดคุณภาพรายการไทยพีบีเอสตามมาตรฐานสื่อสาธารณะ ถือเป็นนวัตกรรมในการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ของไทย ที่ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่สื่อสาธารณะของไทยและมาตรฐานของความเป็นสื่อ สาธารณะที่เป็นสากล โดยได้ออกแบบตัวชี้วัดให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินงาน ด้านรายการและคุณลักษณะรายการแต่ละประเภทของไทยพีบีเอส และบริบทของผู้รับสารชาวไทยที่ยังไม่คุ้นเคยกับสื่อสาธารณะเท่าใดนัก ซึ่งตัวชี้วัดคุณภาพรายการที่สร้างขึ้นมาทั้งหมดมี 39 ตัวชี้วัด นำมาวิเคราะห์จัดกลุ่มด้วยสถิติวิเคราะห์องค์ประกอบ (factor analysis) ได้ 6 องค์ประกอบตัวชี้วัด ได้แก่ ความเป็นต้นแบบและแปลกใหม่ (originality and innovation) มี 8 ตัวชี้วัด การมีส่วนเกี่ยวข้องจากผู้ชม (audience engagement) มี 6 ตัวชี้วัด ผลต่อ ผู้ชม (audience impact) มี 11 ตัวชี้วัด คุณลักษณะที่น่าไว้วางใจ (trustworthiness) มี 5 ตัวชี้วัด การเรียนรู้สังคมของผู้ชม (audience’s social learning) มี 4 ตัวชี้วัด และความต่อเนื่องรอบด้าน (persistence) มี 5 ตัวชี้วัด เมื่อนำองค์ประกอบ ตัวชี้วัดเหล่านี้มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการถดถอยพหุคูณ (multiple regression) พบว่า มีเพียงบางองค์ประกอบเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพรายการแต่ละประเภทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็คือองค์ประกอบตัวชี้วัดคุณภาพรายการที่แต่ละกลุ่มรายการควรให้ความสำคัญ ได้แก่ กลุ่มรายการข่าวและเกี่ยวเนื่องกับข่าว ควรให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องรอบด้าน (persistence) คุณลักษณะที่น่าไว้วางใจ (trustworthi-ness) และผลต่อผู้ชม (audience impact) ตามลำดับ กลุ่มรายการสารประโยชน์ ควรให้ความสำคัญกับความเป็นต้นแบบและแปลกใหม่ (originality and innova-tion) คุณลักษณะที่น่าไว้วางใจ (trustworthiness) และการเรียนรู้สังคมของผู้ชม (audience’s social learning) ตามลำดับ และกลุ่มรายการสาระบันเทิง ควรให้ความสำคัญกับความเป็นต้นแบบและแปลกใหม่ (originality and innovation) ผลต่อผู้ชม (audience impact) การเรียนรู้สังคมของผู้ชม (audience’s social learning) และความต่อเนื่องรอบด้าน (persistence) ตามลำดับ