การสื่อสารการตลาดอาหารในโรงเรียนประถมศึกษา
คำสำคัญ:
-บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารมีหลากหลายสาเหตุ โรงเรียนและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนก็เป็นสาเหตุหนึ่งมีผลต่อพฤติกรรม การบริโภคของเด็ก การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอาหารในโรงเรียนประถมศึกษา
วิธีการศึกษาใช้การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสังเกตการณ์ โดยใช้แบบสำรวจการสื่อสารการตลาดอาหารในโรงเรียน (observation) ด้วยการบันทึกจากการสังเกตและการถ่ายรูปภายในโรงเรียนประถมศึกษาจาก 5 จังหวัดของประเทศไทย
ผลการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมอาหารใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาด 3 กลยุทธ์หลัก คือ (1) การโฆษณา ได้แก่ ป้ายผ้า โปสเตอร์ (2) การส่งเสริมการขาย ได้แก่ การแจกสินค้าให้ทดลองชิมฟรี และ (3) การใช้สิ่งของที่มีตราสัญลักษณ์ เช่น ร่ม กล่องทิชชู่ ตู้ขายเครื่องดื่มหรือไอศกรีม และจะพบเห็นสื่อเหล่านี้มากที่สุด บริเวณโรงอาหาร การวิเคราะห์เนื้อหากลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของอาหารในโรงเรียนเป็นการสร้างมายาคติที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงให้แก่เด็ก
กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของอาหารเป็นการสร้างมายาคติให้แก่เด็ก ดังนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาหรือออกกฎหมายหรือมาตรการควบคุมการสื่อสารการตลาดอาหารในโรงเรียน เพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของเด็ก