ไทยในสายตาสื่อลาว: ศึกษากรณีหนังสือพิมพ์ ประชาชน (Pasaxon)

ผู้แต่ง

  • รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                   บทความเรื่อง “ไทยในสายตาสื่อลาว: ศึกษากรณี หนังสือพิมพ์ ประชาชน (Pasaxon)” พัฒนามาจากงานวิจัยเรื่อง การนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: ศึกษากรณี หนังสือพิมพ์ “ประชาชน” มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาทิศทางการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ประชาชน และ (2) ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของแหล่งที่มากับทิศทางการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ประชาชน
                   ประชากรในการศึกษาครั้งนี้คือ หนังสือพิมพ์ของ สปป.ลาว โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างคือ หนังสือพิมพ์ภาษาลาวที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ ประชาชน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบหมุนเวียนหนังสือพิมพ์ ประชาชน ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ฉบับ (จันทร์-ศุกร์) ตลอดปี พ.ศ. 2556 รวม 51 ฉบับ ทั้งนี้จะวิเคราะห์เนื้อหาโดยใช้คุณลักษณะ (character) เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ สถิติที่ใช้คือร้อยละ ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) จะใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interviews) กับกลุ่มตัวอย่างบรรณาธิการ
                   การศึกษาในวัตถุประสงค์ที่ (1) เพื่อศึกษาทิศทางการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ประชาชน สรุปได้ว่า รูปแบบที่ นำเสนอเกี่ยวกับประเทศไทยมากที่สุดในเชิงพื้นที่คือ บทความ ตามด้วยข่าว และภาพข่าว หน้าที่นำเสนอถึงไทยมากที่สุดคือ หน้า 1 ในรูปแบบข่าว รองลงมาคือหน้า 4 (หน้าสังคม) ในรูปแบบบทความ และหน้า 12 (หน้าข่าวต่างประเทศ) ในรูปแบบบทความ สำหรับแหล่งข่าวที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับไทยมากที่สุดคือ ผู้สื่อข่าวลาว รองลงมาคือข้าราชการลาว และเอกชนไทย ส่วนทิศทางการนำเสนอ เนื้อหาเกี่ยวกับไทยเป็นทิศทางบวกมากกว่า 4 ใน 5 ของเนื้อหาเกี่ยวกับ ไทยทั้งหมด
                   การศึกษาในวัตถุประสงค์ที่ (2) เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ของแหล่งที่มากับทิศทางการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ประชาชน สรุปได้ดังนี้
                   (1) การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับไทยในรูปแบบข่าว พาดหัวข่าว และบทความของหนังสือพิมพ์ ประชาชน มีการนำเสนอในทิศทางบวกมากกว่า 4 ใน 5 ส่วนของพื้นที่การนำเสนอเรื่องไทย ส่วนภาพข่าวและรูปแบบอื่นๆ นำเสนอในทิศทางบวกเพียงทิศทางเดียว โดยไม่ปรากฏทิศทางกลางและทิศทางลบ
                   (2) ประชาชน นำเสนอเรื่องไทยในทิศทางบวกไว้ในทุกๆ หน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหน้า 1 ซึ่งนำเสนอในทิศทางบวกมากที่สุดในบรรดาหน้าต่างๆ ส่วนทิศทางลบที่นำเสนอไว้ร้อยละ 7.68 นั้นปรากฏมากที่สุดในหน้า 12 ซึ่งเป็นหน้าต่างประเทศ
                   (3) แหล่งข่าวในข่าว และพาดหัวข่าวที่นำเสนอเรื่องไทยมากที่สุดคือ ผู้สื่อข่าวลาว ซึ่งมีทิศทางการนำเสนอไปในทางบวกมากกว่า 4 ใน 5 ส่วน และนำเสนอไทยในบทบาทพันธมิตรในด้านสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง
                   (4) นโยบายของหนังสือพิมพ์ ประชาชน คือ ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาล คือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการไม่แทรกแซงกิจการภายใน
                   ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การนำเสนอเรื่องไทยในทิศทางบวกเป็นส่วนใหญ่นั้น มาจากนโยบายของรัฐบาลที่กำกับ ประชาชน ให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐ อย่างไรก็ตามความรู้สึกที่แท้จริงของคนลาวที่มีต่อไทยอาจไม่ได้เป็นไปตามการนำเสนอของ ประชาชน เพราะความขัดแย้งต่างๆ ที่ฝังรากไว้ เช่น การสู้รบจากข้อพิพาทดินแดนกรณีบ้านร่มเกล้า (ปี 2531) หรือการที่ไทยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากต่อลาว ฯลฯ ทำให้คนลาวอาจไม่ได้ไว้วางใจคนไทยมากนัก ข้อเสนอแนะคือ ไทยในฐานะเพื่อนบ้านของลาวควรมีการปรับตัวเพื่อทำให้คนลาว ไว้วางใจ เช่น สื่อสารเรื่องลาวในฐานะพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-11-2018