การวิจัยถอดบทเรียนหลักการเขียนบทสื่อเสียงบรรยายภาพรายการอาหารทางโทรทัศน์เพื่อผู้พิการทางการเห็น

ผู้แต่ง

  • กุลนารี เสือโรจน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                  งานวิจัยเรื่อง การวิจัยถอดบทเรียนหลักการเขียนบทสื่อเสียงบรรยายภาพรายการอาหารทางโทรทัศน์เพื่อผู้พิการทางการเห็น2 เป็นการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อตอบคำถามนำวิจัย 2 ประเด็น คือ (1) แนวทางการดำเนินงานผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพรายการอาหารทางโทรทัศน์ของทีมผู้ผลิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอย่างไร และ (2) หลักการเขียนบทสื่อเสียงบรรยายภาพรายการอาหารทางโทรทัศน์ของทีมผู้ผลิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอย่างไร โดยใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลหลักในการเก็บข้อมูล 3 ลักษณะ ได้แก่ การสัมภาษณ์ และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ใช้เพื่อตอบคำถามนำวิจัยข้อที่ 1 และการวิเคราะห์ตัวบทเพื่อตอบคำถามนำวิจัยข้อที่ 2 
                  ผลการศึกษาพบว่า ทีมผู้ผลิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแนวทางการดำเนินงานผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพรายการอาหารทางโทรทัศน์ 3 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นเตรียมการก่อนการผลิต (pre-production) (2) ขั้นผลิตรายการ (production) และ (3) ขั้นหลังการผลิตรายการ (post-production) และมีกิจกรรมหนุนเสริมการผลิตสื่อเสียงให้มีประสิทธิภาพทั้งสิ้น 6 กิจกรรม ได้แก่ (1) กิจกรรมปรับพื้นฐานของความรู้ ของทีมผลิต (2) กิจกรรมการสังเกตการณ์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการเขียนบทระหว่างการลงเสียงบรรยายและการตัดต่อ (3) กิจกรรมเข้าร่วมประชุมกับภาคีเครือข่าย (4) กิจกรรมการสังเกตการณ์การผลิตสื่อเพื่อคนพิการทางการเห็น (5) กิจกรรมอบรมการผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพให้กับนักศึกษา และ (6) ภาคีสรุปงานร่วมกัน ส่วนหลักการเขียนบทสื่อเสียงบรรยายภาพรายการอาหารทางโทรทัศน์ ประกอบด้วย (1) มีความเข้าใจในสิ่งที่จะบรรยาย รู้ว่าอะไรคือใจความสำคัญที่ผู้ผลิตต้นทางต้องการสื่อสาร ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 4 กลุ่ม คือ (ก) สิ่งใดที่เป็นสาระและจำเป็นให้ใส่เข้าไปได้ เช่น กิริยาการประกอบอาหาร วัตถุดิบ และอาหารที่ทำสำเร็จ (ข) สิ่งใดที่เป็นสาระแต่ไม่จำเป็นอาจไม่ต้องใส่เข้าไป เช่น ขั้นตอนหรือเสียงที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารที่ผู้ประกอบอาหารกล่าวถึงมาก่อนแล้ว (ค) สิ่งใดที่ไม่ใช่สาระแต่จำเป็นอาจใส่เข้าไปได้ เช่น เสียงที่ไม่ทราบประเภทและแหล่งที่มาซึ่งก่อให้เกิดความสงสัย (ง) สิ่งใดที่ไม่ใช่สาระและไม่จำเป็นไม่ต้องใส่เข้าไป เช่น การแต่งหน้าและแต่งกายของผู้ประกอบอาหาร (2) จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะบรรยาย และ (3) การประมวลถ้อยคำให้สั้น กระชับ โครงสร้างประโยคไม่ซับซ้อนสื่อสารความหมายได้ตรงประเด็นและเป็นถ้อยคำที่ทำให้เกิดจินตนาการต่อภาพหรือเหตุการณ์นั้นๆ ได้
                  

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-11-2018