การใช้สื่อทางการเกษตรของเกษตรกรไทย

ผู้แต่ง

  • อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ อาจารย์ ดร. ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

สื่อทางการเกษตร, เกษตรไทย

บทคัดย่อ

                   งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานะการใช้สื่อทางการเกษตรในปัจจุบันและความต้องการสื่อของเกษตรกรโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามจำนวน 400 ชุด และมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า เกษตรกรไทยร้อยละ 92.80 ใช้สื่อโทรทัศน์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร รองลงมาคือ สื่ออินเตอร์เน็ท ร้อยละ 48.80 สื่อวิทยุ ร้อยละ 46.50 และสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 40.80 ทั้งนี้เกษตรกรใช้สื่อโทรทัศน์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรที่มีสถานภาพแต่งงาน และมีรายได้เฉลี่ย 5,001-10,000 บาท ขณะที่สื่อวิทยุ เกษตรกรที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษาและอายุ 41-45 ปี ใช้สื่อวิทยุเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เกษตรกรที่มีอายุ 41-45 ปี ยังชอบใช้สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร นอกจากนี้เกษตรกรไทย ยังมีระดับความต้องการในการใช้สื่อโทรทัศน์ในระดับสูงมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.22 ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ท มีค่าเฉลี่ยของระดับความต้องการใช้ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.53 ใกล้เคียงกับ สื่อวิทยุ และสื่อหนังสือพิมพ์ ที่มีค่าเฉลี่ยระดับความต้องการใช้ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.46 และ 3.41 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตามข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพ จำนวนสมาชิกในครอบครัว แตกต่างกัน มีค่าเฉลี่ยความต้องการใช้สื่อในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ผ่านสื่อประเภทโทรทัศน์ แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนเกษตรกรที่มีรายได้เฉลี่ยแตกต่างกัน มีความต้องการใช้สื่อในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรผ่านสื่อประเภทโทรทัศน์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ขณะที่เกษตรกรที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพ จำนวนสมาชิกในครอบครัว และรายได้เฉลี่ยแตกต่างกัน มีค่าเฉลี่ยความต้องการใช้สื่อในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ผ่านสื่อประเภท วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ วารสารฯ อินเตอร์เน็ท แผ่นพับ/จดหมายข่าว และโปสเตอร์/ใบปลิว แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สำหรับเกษตรกรที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษาอยากใช้สื่อวิทยุ ในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร มากกว่าเกษตรกรที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรี ขณะที่เกษตรกรที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย อยากใช้สื่ออินเตอร์เน็ท ในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร มากกว่า เกษตรกรที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษา และที่น่าสนใจ เกษตรกรที่มีระดับการศึกษาระดับปวช./ปวส. อยากใช้สื่อหนังสือ ในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร มากกว่าเกษตรกรที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษา และเกษตรกรที่มีระดับการศึกษาระดับปวช./ปวส. อยากใช้สื่ออินเตอร์เน็ทและโปสเตอร์/ใบปลิว ในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร มากกว่าเกษตรกรที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษา ขณะที่เกษตรกรที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรี อยากใช้สื่อวารสาร ในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร มากกว่าเกษตรกรที่มีระดับการศึกษาปวช./ปวส.

                   เมื่อพิจารณาถึงตัวบุคคลที่มีบทบาทในการนำข่าวสารด้านการเกษตรเข้ามาคุยกับครอบครัวของเกษตรกร พบว่า บุคคลภายนอกครอบครัว คือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 45.2 ,กลุ่มเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 42.80 ,เพื่อนบ้าน คิดเป็นร้อยละ 38.80 ,ผู้นำท้องถิ่น คิดเป็นร้อยละ 33.20 ส่วนบุคคลภายในครอบครัวที่มีบทบาทในการนำข่าวสารด้านการเกษตรเข้ามาคุยกับครอบครัว คือ ตัวเกษตรกรเอง คิดเป็นร้อยละ 36.00 ,สามี/ภรรยา คิดเป็นร้อยละ 31.20 ช่วงเวลาที่เกษตรกรสามารถรับข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรจากช่องทางการสื่อสารต่างๆ ได้ ส่วนใหญ่เป็นช่วงหลังเลิกกิจกรรมทางการเกษตร และก่อนดำเนินกิจกรรมการเกษตร ช่วง 18.01-21.00 น. เป็น คิดเป็นร้อยละ 44.50 รองลงมาคือช่วงเวลา 6.00-10.00 น. คิดเป็นร้อยละ 41.50 และช่วงเวลา 16.01-18.00 น. คิดเป็นร้อยละ 17.20 ตามลำดับ ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรของเกษตรกร พบว่า ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรในเชิงลึกมีความสำคัญมากกว่าภาพรวมกว้างๆ (ค่าเฉลี่ย 3.37) ,ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ซึ่งรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุมักนำเสนอข่าวสารด้านการเกษตรในช่วงที่ไม่สามารถรับชม/รับฟังได้ และ ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรอันเนื่องมาจากนักส่งเสริมการเกษตรเข้าไม่ถึงพื้นที่ที่เกษตรกรทำการเกษตร (ค่าเฉลี่ย 3.15) ,ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ในส่วนเนื้อหาไม่มีรายละเอียดและมีข้อมูลน้อยเกินไป (ค่าเฉลี่ย 3.12) ,ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ที่การรับข้อมูลเป็นแบบทางเดียวไม่สามารถสื่อสารกับแหล่งข้อมูลได้ (ค่าเฉลี่ย 3.04) ,ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ที่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารการเกษตรที่เป็นประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 3.03)

References

กมลรัฐ อินทรทัศน์ เอกสารประกอบชุดวิชา “การสื่อสารกับการพัฒนา หน่วยที่ 12 : การสื่อสารกับการพัฒนาการเกษตร” มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2549

นันทยา กัลป์ยาศิริ. 2540. ความต้องการใช้สื่อในงานส่งเสริมการเกษตรของเกษตรตำบลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,สำนักนายกรัฐมนตรี.2554. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559. กรุงเทพฯ: .สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร [OAE]. (2559). ตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทยปี 2559 เข้าถึงเมื่อ 14 มีนาคม 2560 https://www.oae.go.th/download/prcai/Economicindicators55.pdf

Rogers, E.M. and Shoemaker, F.F. (1971) Communication of Innovation A Cross-Cultural Approach. 2nd Edition, The Free Press, New York.

Zimbardo, P. G., & Leippe, M. R. (1991). McGraw-Hill series in social psychology. The psychology of attitude change and social influence. New York, NY, England: Mcgraw-Hill Book Company.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

16-05-2019