การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กของมูลนิธิอิสรชนเพื่อต่อรอง อัตลักษณ์ของ “ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ”

ผู้แต่ง

  • รำไพพรรณ บุญพงษ์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ ดร. ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทคัดย่อ

                   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและการนำเสนอเนื้อหา ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของมูลนิธิอิสรชนเพื่อต่อรองอัตลักษณ์ให้กับ “ผู้ใช้ชีวิตในที่ สาธารณะ” หรือคนไร้บ้าน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ มูลนิธิอิสรชน และทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิอิสรชน ที่มีต่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “มูลนิธิอิสรชน” การสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอิสรชนและผู้ติดตาม เฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิอิสรชน และการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมเพื่อศึกษา การทำางานของมูลนิธิอิสรชน 
                   ผลการวิจัยพบว่า มูลนิธิอิสรชนสื่อสารเพื่อต่อรองอัตลักษณ์ให้กับผู้ใช้ ชีวิตในที่สาธารณะ โดยนำเสนอสาเหตุการออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ การ ดำเนินชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา การออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ผ่านการตั้งสถานะ (status) ที่เป็นข้อความ ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ รวมทั้งการเขียนบันทึก (note) และการแบ่งปัน (share) ข้อความ ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ทั้งนี้ ในแต่ละสถานะ บันทึก และการแบ่งปัน มูลนิธิอิสรชนจะเล่าเรื่องผ่านตัวละครผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ 4 ลักษณะ และระบุแก่นความคิดโดยใช้แฮชแท็ก (hashtag) เพื่อมุ่งเน้นให้สังคมเข้าใจข้อเท็จจริง เกี่ยวกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่มักไม่ถูกนำเสนอทางสื่อมวลชน และยอมรับว่า พวกเขามีความเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการสื่อสาร ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิอิสรชน ได้แก่ ภูมิหลังและประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ทักษะการใช้สื่อของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร และสถานะทาง เศรษฐกิจของมูลนิธิอิสรชน
                    ผลการศึกษายังพบว่า ทัศนคติต่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของผู้ติดตาม เฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิอิสรชน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ติดตามเฟซบุ๊ก โดยผู้ที่มีความสงสาร เห็นใจ (sympathy) ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมักไม่บริจาค เงินหรือสิ่งของให้กับมูลนิธิอิสรชน ไม่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิอิสรชน หรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยตรง แต่ผู้ที่มีความเข้าใจ เอาใจใส่ (empathy) ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจะแสดงออกเพื่อช่วยงานของมูลนิธิอิสรชน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยตรง โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ผู้ติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจมีทัศนคติเข้าใจ เอาใจใส่ คือการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร กับมูลนิธิอิสรชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-10-2019