มิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสานกับการสื่อสารอัตลักษณ์อีสานใหม่

ผู้แต่ง

  • พันธกานต์ ทานนท์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

มิวสิกวิดีโอ, เพลงลูกทุ่งอีสาน, อัตลักษณ์อีสาน

บทคัดย่อ

            การวิจัยเรื่อง มิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสานกับการสื่อสารอัตลักษณ์อีสานใหม่ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ที่มุ่งแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความหมายและอัตลักษณ์ใหม่ในมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสานที่เผยแพร่ผ่านยูทูบในปี พ.ศ. 2558-2562 ผ่านปฏิสัมพันธ์ (interaction) ทั้ง 3 มิติ กล่าวคือ (1) การศึกษาบริบท (context) เพื่อศึกษาบริบทความเปลี่ยนแปลงของภาคอีสาน ที่ส่งผลต่อการก่อตัวของอัตลักษณ์อีสานใหม่ (2) การศึกษาตัวบท (text) ในมิวสิกวิดีโอ ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ทั้งด้านภาษา ด้านดนตรี ด้านอาหาร และด้านประเพณี จำนวนทั้งสิ้น 30 มิวสิกวิดีโอ และ (3) การศึกษาผู้รับสาร (audience) ทั้งกลุ่มคนอีสานเจเนอเรชันเอ็กซ์ (Generation X) และกลุ่มคนอีสานเจเนอเรชันวาย (Generation Y) ในฐานะ “ผู้รับสารในวัฒนธรรมอีสาน” ว่า จะมีการรับรู้ความหมายและอัตลักษณ์อีสานใหม่ในมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสานเหล่านั้นอย่างไร โดยอาศัยแนวคิดอัตลักษณ์ แนวคิดเกี่ยวกับท้องถิ่นนิยม แนวคิดเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง แนวคิดเรื่องมิวสิกวิดีโอ แนวคิดเรื่องการผลิตและการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม และแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis) มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ตีความถึงกระบวนการสร้างความหมายและอัตลักษณ์อีสานใหม่ และใช้แนวคิดการเข้ารหัสและถอดรหัส (encoding/decoding) เพื่อวิเคราะห์แบบแผนการถอดรหัสความหมายของผู้รับสารที่ได้รับชมตัวบททั้งภาพและเสียงที่นำเสนอในมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสาน

            ผลการวิจัยพบว่า มิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสานที่เผยแพร่ผ่านยูทูบในปี พ.ศ. 2558-2562 มีกระบวนการสร้างความหมายและอัตลักษณ์อีสานแบบใหม่ผ่านกลยุทธ์การสร้างความหมายทั้ง 7 ประการ คือ (1)  กลยุทธ์การคัดสรร (selection) (2) กลยุทธ์การใช้ภาพแบบนามนัย (metonymy) (3) กลยุทธ์การลดทอน (reductionism) (4) กลยุทธ์การสร้างความหวือหวาแปลกตา (exoticism) (5) กลยุทธ์การผสมผสานความเป็นโลกกับความเป็นท้องถิ่น (glocalization) (6) กลยุทธ์การปรับให้เป็นท้องถิ่น (localization) และ (7) กลยุทธ์การสร้างจินตนาการร่วมผ่านเครื่องบ่งชี้อัตลักษณ์ (identity marker) ของคนอีสาน และในส่วนของการถอดรหัสความหมายของผู้รับสาร ผู้รับสารส่วนใหญ่ถอดรหัสในเชิงยอมรับ (preferred reading) กับการสื่อสารความหมายและอัตลักษณ์ใหม่ในมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสาน ตามจุดยืนที่มิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งอีสานเสนอมา ถือเป็นข้อตกลงร่วม (common agreement) ของความหมายและอัตลักษณ์อีสานใหม่ที่สามารถยอมรับได้ โดยเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เกิดการยอมรับในครั้งนี้ คือ (1) ผู้รับสารมองว่า มิวสิกวิดีโอช่วยตอกย้ำและสืบทอดความเป็นอีสานไม่ให้สูญหายไป (2) มิวสิกวิดีโอสามารถยกระดับความเป็นอีสานให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง (3) มิวสิกวิดีโอเปลี่ยนภาพอีสานในมุมมองใหม่และสร้างศักดิ์ศรีให้กับคนอีสาน (4) มิวสิกวิดีโอสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน และสร้างจิตสำนึกร่วมของคนอีสาน และ (5) ผู้รับสารเข้าใจว่า มิวสิกวิดีโอเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากนั้น การศึกษาครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแบบแผนทางวัฒนธรรมอีสาน และพื้นที่การต่อสู้ของวัฒนธรรมอีสานในสนามของมิวสิกวิดีโอ เป็นภาพของสังคมอีสานแบบร่วมสมัย และเป็นอีสานที่ได้รับการยอมรับ

References

กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน 2560)), สารธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา, กรุงเทพฯ: อินทนิล.

จิรวุฒิ เสนาคำ (2547), “อรชุน อัปปาดูรัย กับมโนทัศน์ท้องถิ่นข้ามท้องถิ่น (Translocalities)”, รัฐศาสตร์สาร, 25(1): 103-149.

พฤกษ์ เถาถวิล (2555), “อีสานใหม่ ความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาในรอบศตวรรษ (ร่าง)”, ใน การประชุมวิชาการระดับชาติอุบลวัฒนธรรม ครั้งที่ 2 กิน เที่ยว เกี้ยว เล่น”, อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

พัฒนา กิติอาษา (2557), สู่วิถีอีสานใหม่, กรุงเทพฯ: วิภาษา.

สันติ ทิพนา และราตรี ทิพนา (2560), “วาทกรรมผัวเมียในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่งอีสานที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย”, วารสารวิชาการ กสทช., 2(12): 450-473.

สิริชญา คอนกรีต (2556), เพลงลูกทุ่งอีสาน: อัตลักษณ์และการเมืองเชิงวัฒนธรรมของคนอีสานพลัดถิ่น, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (2546), อัตลักษณ์ การทบทวนทฤษฎีและกรอบแนวคิด, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

อมรรัตน์ ทิพย์เลิศ (2545), “มิวสิกวิดีโอ: เต็มใจจะเจ็บ แต่ไม่เคยเข็ดในรัก” , ใน กาญจนา แก้วเทพ และคณะ (บ.ก.), สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ, กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แกรมมี่ โกลด์ ออฟฟิเชียล 2560)), ไหง่ง่อง: ตั๊กแตน ชลดา, สืบค้นเมื่อ15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=YdnsQZ-lsVA

________. 2561)), ฝ้ายผูกแขนเปื้อนเหงื่อ: เบียร์ พร้อมพงษ์, สืบค้นเมื่อ15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=XXcTUoXQkWc

ซาวด์มีแฮง ออฟฟิเชียล (2560), โอ้ละน้อ: ก้อง ห้วยไร่ feat: ปู่จ๋าน ลองไมค์, สืบค้นเมื่อ15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=O3AFM-MSASM

________. 2561)), เทพบุตรใจหมา(บักพาก): ฐา ขนิษ, สืบค้นเมื่อ15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=-lwkf65B9oE

ต้นไม้มิวสิค แอนด์ สตูดิโอ (2562), ฮัก ฮัก ฮัก: หนิง ต้นไม้มิวสิค, สืบค้นเมื่อ15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=Up7IfVIwC0c

อาร์สยาม (2560), ให้น้องไปสา: เบิ้ล ปทุมราช อาร์ สยาม, สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=Q4LHuFCd4dc

________. (2561), โสดโสตาย: นุช วิลาวัลย์ Rsiam, สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=Y4UJjL9jjmc

อิสรภาพ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (2562), สะออนอีสาน: อ๋อมแอ๋ม ละมัยแสงทอง, สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=XL_7zFemj-k

Downloads

เผยแพร่แล้ว

19-04-2022