อิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในเขตอำเภอเมือ จังหวัดเพชรบูรณ์
คำสำคัญ:
อิทธิพล, สื่อสังคมออนไลน์, เยาวชน, การมีส่วนร่วมทางการเมืองบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณประเภทการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) กลุ่มตัวอย่างคือเยาวชนในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 400 คน เครื่องมือวิจัยคือแบบสอบถามออนไลน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ (multiple regression analysis) ด้วยวิธี Stepwise
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงร้อยละ 63 เป็นชายร้อยละ 37 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 85 ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกวัน ร้อยละ 45.5 นิยมใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด ร้อยละ 58.3 ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่า 5 ชั่วโมง/วัน
การวิเคราะห์อิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน พบว่า มีตัวแปรระยะเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ รูปแบบการนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ และความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่ร่วมกันทำนายอิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value < 0.001) แสดงว่า ระยะเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ รูปแบบการนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ และความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน โดยระยะเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีค่าน้ำหนักการพยากรณ์มากที่สุด รองลงมาคือ รูปแบบการนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ และความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐาน (𝛽) เท่ากับ 0.373, 0.277 และ 0.157 และมีค่าในรูปแบบคะแนนดิบ (b) เท่ากับ 0.356, 0.287 และ 0.150 ตามลำดับ ซึ่งตัวแปรทั้ง 3 ตัวแปร สามารถอธิบายการผันแปรการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนได้ร้อยละ 52.1 (R2 = 52.1) สามารถสร้างสมการพยากรณ์อิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน โดยเขียนในรูปคะแนนดิบและคะแนนมาตรฐาน คือ
สมการในรูปคะแนนดิบ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน = 0.696 + 0.356 (ระยะเวลาการใช้สื่อฯ) + 0.287 (รูปแบบการนำเสนอฯ) + 0.015 (ความถี่การใช้สื่อฯ)
สมการในรูปคะแนนมาตรฐาน
𝑧การส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน = 0.373 (𝑧ระยะเวลาการใช้สื่อฯ) + 0.277 (𝑧รูปแบบการนำเสนอฯ) + 0.157 (𝑧ความถี่การใช้สื่อฯ)