This is an outdated version published on 31-05-2023. Read the most recent version.

การจัดวาระสารและการรายงานข่าวข้ามสื่อของสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ด: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในประเทศไทย พ.ศ. 2563

ผู้แต่ง

  • นันทพร วงษ์เชษฐา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

สำนักข่าวออนไลน์, สำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ด, การจัดวาระสาร, การรายงานข่าวข้ามสื่อ, ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดในฐานะผู้ส่งสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดวาระสารในเว็บไซต์และการรายงานข่าวข้ามสื่อระหว่างเว็บไซต์และอินสตาแกรมของสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ด จากกรณีศึกษาข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในประเทศไทย พ.ศ. 2563 คือ กลุ่มเยาวชนปลดแอก/คณะประชาชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และคณะราษฎร ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึง 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และคัดเลือกข่าวแบบมีเป้าประสงค์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ในเว็บไซต์และอินสตาแกรม จำนวน 330 ชิ้น โดยใช้ทฤษฎีการจัดวาระสาร ร่วมกับแนวคิดพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ใช้แนวคิดมัลติมีเดีย และการเล่าเรื่องข้ามสื่อ การศึกษาการจัดวาระสารในรายงานข่าวในเว็บไซต์ของสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดพบการจัดวาระสารที่มีทิศทางของข่าว ทำให้แนวคิดทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในประเทศไทย พ.ศ. 2563 โดดเด่นเชิงบวก ในพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 4 ระยะ ผ่านการใช้หลักคุณค่าข่าวด้านความขัดแย้ง ความสดทันสมัย และผลกระทบเป็นหลัก ดังนี้ (1) การจัดวาระสารในระยะก่อตัว มุ่งเสนอความเห็นแย้งและความคับข้องใจต่อการเมืองที่มีชนวนคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของประชาธิปไตยที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่ชอบธรรม (2) ระยะรวมตัว เป็นการรวมตัวกันของเยาวชนในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เริ่มจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ซึ่งการรายงานข่าวของสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดมีส่วนในการแพร่กระจายสำนึกร่วมของความคับข้องใจของเยาวชนกลุ่มต่างๆ (3) ระยะเกิดองค์การ เป็นการรวมตัวอย่างเป็นทางการของเยาวชนสามกลุ่ม มีโครงสร้างและเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนข้อเรียกร้องในทิศทางเดียวกัน คือ ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน และให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดสะท้อนการชุมนุมใหญ่ขององค์การการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแสดงการตอบรับการชุมนุมของเยาวชน ต่อมาคณะราษฎรได้ยกระดับการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากแบบสงบสู่ความรุนแรงขึ้น นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยรัฐใช้มาตรการสูงขึ้นในการควบคุม สลายการชุมนุมและจับกุมตัวแกนนำ (4) ขบวนการเคลื่อนไหวทางเมืองเข้าสู่ระยะเสื่อมถอย จากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐและการขาดแกนนำหลักในการเคลื่อนไหวในระยะที่สาม นำไปสู่การปรับเป็นยุทธวิธีให้ทุกคนคือแกนนำ เพื่อให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองดำเนินต่อไป แต่การกระจายการเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับส่งผลต่อการอ่อนตัวของเจตนารมณ์หลักที่เกิดในระยะการเกิดองค์การ นำไปสู่การเสื่อมถอยของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในการนี้ สำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดมุ่งรายงานกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าการจัดกรอบสารและอัดฉีดสาร ประกอบกับการกลับมาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 2 ของประเทศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองชะงักลง ส่วนการรายงานข่าวข้ามสื่อระหว่างเว็บไซต์และอินสตาแกรมของเดอะสแตนดาร์ดพบ (1) การใช้มัลติมีเดียในเว็บไซต์ของสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ด ได้แก่ เนื้อข่าว ภาพ และการรายงานข่าวสด/วีดิทัศน์ ในการจัดวาระสารในทิศทางที่สะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน พ.ศ. 2563 สร้างความชอบธรรมของการชุมนุม และแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน มากกว่าการรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของคู่ขัดแย้ง ได้แก่ รัฐ และขบวนการโต้กลับซึ่งเห็นแย้งต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน มีการใช้จุดเด่นของสื่อใหม่ในการทยอยเพิ่มเนื้อข่าวในข่าวเดิมเมื่อเวลาผ่านไปในลักษณะพอกเนื้อหา ทำให้ผู้รับสารติดตามสถานการณ์สำคัญจากข่าวเพียงข่าวเดียว ขณะที่ใช้ภาพข่าวและการรายงานข่าวสดเป็นทางลัดในข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนที่มีพลวัต ส่วนการรายงานข้ามสื่อระหว่างเว็บไซต์และอินสตาแกรมของสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดพบว่า ข่าวส่วนใหญ่ใช้แนวคิดการข้ามสื่อ คือเนื้อข่าวในเว็บไซต์ไม่แตกต่างจากเนื้อข่าวอินสตาแกรมอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่ามีการใช้ภาพข่าวจำนวนมาก แต่การจัดเนื้อข่าวยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเด่นของอินสตาแกรมอย่างเต็มที่

สรุปได้ว่า เดอะสแตนดาร์ดมีอิทธิพลในการทำให้ผู้รับสารคิดเกี่ยวกับเรื่องใดในทิศทางใดด้วยการจัดวาระสาร ร่วมกับการใช้มัลติมีเดียทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในประเทศไทย พ.ศ. 2563 เป็นภาพเชิงบวก ขณะที่การรายงานข้ามสื่อระหว่างเว็บไซต์และอินสตาแกรมนั้น ยังไม่ได้ใช้คุณลักษณะเฉพาะของความเป็นสื่อใหม่อย่างเต็มศักยภาพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-05-2023

Versions