9 ทศวรรษ พัฒนาการละครเพลงไทยในวิกฤติการณ์โลก
คำสำคัญ:
ละครเพลง, ชนชั้นกลาง, โควิด-19, โลกาภิวัตน์บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของพัฒนาการของละครเพลงไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474-2565 เป็นระยะเวลากว่า 90 ปี ที่ชนชั้นกลางได้ริเริ่มแบบแผนทางวัฒนธรรมการแสดงละครเพลงเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงไปตามวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยเพื่อดำรงและสืบสานวัฒนธรรมบันเทิงนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาวิวัฒนาการของละครเพลงควบคู่ปรากฏการณ์สำคัญของประเทศไทยและของโลก เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์และความขัดแย้งในการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมโลก โดยการรวบรวมเอกสารและการสังเกตการณ์
ผลการวิจัยพบว่า วิกฤติการณ์โลกส่งผลต่อพัฒนาการละครเพลง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 7 ยุคสมัย ดังนี้ (1) ยุคบุกเบิกละครเพลงโดยชนชั้นกลาง (พ.ศ. 2474-2495) (2) ยุคบูรณาการละครเพลงข้ามสื่อ (พ.ศ. 2496-2513) (3) ยุคบ่มเพาะการละครสมัยใหม่ (พ.ศ. 2514-2528) (4) ยุคฟื้นฟูและพัฒนาอัตลักษณ์ละครเพลง (พ.ศ. 2529-2549) (5) ยุคเติบโตของละครเพลงในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (พ.ศ. 2550-2555) (6) ยุคสร้างตัวตนและสืบทอดวัฒนธรรมของละครเพลง (พ.ศ. 2556-2562) (7) ยุคการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ของละครเพลง (2563-2565) การวิวัฒน์ของละครเพลงในแต่ละยุคสมัยนั้นมีปัจจัยสำคัญคือ วิกฤติการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาพการณ์สังคมในแต่ละยุคสมัย และวิกฤติโรคระบาดอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) องค์ประกอบที่มีความต่อเนื่องในพัฒนาการของละครเพลงตลอดเก้าทศวรรษคือ ชนชั้นกลางเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารที่ผสมผสานวัฒนธรรมโลกกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยึดโยงชนชั้นของตัวเองกับสังคม ส่วนองค์ประกอบของการสื่อสารที่มีความผันผวนแปรเปลี่ยนไปตามวิกฤติการณ์ของโลกมากที่สุดคือ ช่องทางการเผยแพร่ ซึ่งมีสถานะที่ไหลเลื่อนไปตามวิกฤติและโอกาสในแต่ละยุคสมัย