Social Media Use in Negotiating Gender Identity among Young Thai Women
คำสำคัญ:
สื่อสังคมออนไลน์, ผู้หญิงวัยรุ่น, วัฒนธรรมวัยรุ่น, อัตลักษณ์ทางเพศ, ชนชั้นทางสังคม, ชาติพันธุ์วรรณนาออนไลน์บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ศึกษาว่า ผู้หญิงวัยรุ่นอายุ 18 ปี ในกรุงเทพมหานคร ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อต่อรองและแสดงอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร ค่านิยมและวาทกรรมสาธารณะแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับเพศหญิงในประเทศไทยยังคงกำหนด ควบคุม และกดทับการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของผู้หญิงทั้งในพื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการปรับตัว การต่อรอง หรือการต่อต้านวาทกรรมดังกล่าว ผ่านการแสดงออกอย่างมีชั้นเชิงหรือกลยุทธ์ที่หลากหลายและเป็นอิสระบนสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งชนชั้นทางสังคม (social class) อาจเป็นมิติทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับวิธีการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศบนสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นงานวิจัยจึงคัดเลือกผู้ร่วมวิจัยที่เป็นผู้หญิงวัยรุ่นที่มาจากต่างภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 3 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นล่าง (lower class) ชนชั้นกลาง (middle class) และชนชั้นสูง (upper class) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทางสังคม การแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศ และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ งานวิจัยใช้วิธีตรวจสามเส้าด้านวิธีรวบรวมข้อมูล (method triangulation) โดยใช้เครื่องมือการวิจัยเชิงคุณภาพทั้งหมด 3 เครื่องมือ ได้แก่ การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และชาติพันธุ์วรรณนาออนไลน์ เพื่อให้เข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้านเพศของผู้หญิงผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ งานวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพผ่านการวิเคราะห์แก่นสาระ (thematic analysis) และอ้างอิงข้อมูลเชิงคุณภาพไปพร้อมกับการวิเคราะห์การสร้างความหมาย (meaning-making) ผ่านมุมมองสัญศาสตร์บนกิจกรรมของสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การโพสต์รูปภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การแชร์สถานะ การคุยผ่านคอมเมนต์ เป็นต้น กล่าวโดยสรุป การศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาออนไลน์ทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการแสดงออกอัตลักษณ์ด้านเพศในชีวิตประจำวันของผู้หญิงวัยรุ่น ที่อาจตอบสนอง ต่อรอง หรือต่อต้านแนวคิดสตรีแบบดั้งเดิมในประเทศไทย