อาชญากรเด็ก: จากบทบาทในซีรีส์สู่การสะท้อนความจริงในสังคม

ผู้แต่ง

  • คันธิรา ฉายาวงศ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

อาชญากรเด็ก, เด็ก, ซีรีส์, สื่อกับเด็ก

บทคัดย่อ

              บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการนำเสนอเนื้อหาในซีรีส์ หญิงเหล็กศาลเยาวชน (Juvenile Justice) (2022) และ เด็กใหม่ ซีซั่น 2 (Girl from Nowhere Season 2) (2021) จากการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในสังคม โดยศึกษาในรูปแบบวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบกรณีศึกษา (case study research method) พบว่า ในซีรีส์ปรากฏภาพอาชญากรเด็ก สะท้อนมุมมองของผู้ผลิตและสังคมที่ตรงข้ามต่อการมองเด็กในลักษณะของความบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนผ้าขาว ซึ่งเป็นขอบเขตในด้านบวกโดยตัวละครเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงที่มีอำนาจในการตัดสินและลงโทษอาชญากรเด็ก ไม่ได้นำเสนอภาพผู้หญิงอ่อนหวาน เรียบร้อย แต่เป็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม แต่มีจุดที่แตกต่างกันคือ ที่มาของอำนาจ โดยในซีรีส์เรื่อง Juvenile Justice (2022) ตัวละครเอกของเรื่องคือ ผู้พิพากษาหญิงที่ชื่อว่า ชิมอึนซอก ได้ใช้อำนาจทางกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางสังคม ขณะที่ซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ นั้น ตัวละครเอกของเรื่องคือ แนนโน๊ะ ใช้อำนาจทางพลังเหนือธรรมชาติมากกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมายและกฎเกณฑ์ในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อและทัศนคติของคนไทยที่เชื่อว่า กฎแห่งกรรม 

              ขณะที่ตัวละครเด็กส่วนใหญ่ในซีรีส์จะมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ ตัวละครเด็กชายจะใช้กำลังความแข็งแรงของร่างกาย ตัวละครเด็กหญิงจะมีความอ่อนแอมากกว่า ถูกรังแก และนำไปสู่การลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งตอกย้ำมุมมองของผู้ผลิตในการนำเสนอตัวละครเด็กที่มีลักษณะแสดงออกเป็นผู้ใหญ่ และมีความสามารถเกินวัย นำไปสู่ตั้งคำถามถึงการยกเว้นการลงโทษหรือการลดโทษอาชญากรรมเด็ก ซึ่งประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้ได้มีกฎหมายที่วางหลักสอดคล้องกันตามหลักสากลและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในขณะที่ปัญหาการก่ออาชญากรรมของเด็กทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องขึ้นในสังคมโลก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-09-2023