ภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ไทย: การประกอบสร้างความหมายตัวละครชายที่ปฏิเสธอำนาจควบคุมของสังคม

ผู้แต่ง

  • ธีระพล ศิริทัพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

ภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ไทย, การประกอบสร้างความหมาย, ตัวละครชายที่ปฏิเสธอำนาจควบคุมของสังคม

บทคัดย่อ

        บทความวิจัยเรื่องนี้มุ่งนำเสนอประเด็นสำคัญและผลการศึกษาหลักจากงานวิจัยเรื่อง ภาพตัวแทนตัวละครชายที่ปฏิเสธอำนาจควบคุมของสังคมในภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประกอบสร้างความหมายของตัวละครชายที่ปฏิเสธอำนาจควบคุมของสังคมในภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ไทย และศึกษาการถอดรหัสความหมายของกลุ่มตัวอย่างผู้รับสารที่มีประสบการณ์ตรง ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) ซึ่งในส่วนแรกศึกษาการประกอบสร้างตัวละครนักเลงอันธพาลที่ปรากฏอยู่ในบทบาทของตัวละครพระเอก (The Hero) จำนวน 7 ตัวละคร จากภาพยนตร์ 7 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง เด็กเสเพล (2539) 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) โก๋หลังวัง (2545) เด็กเดน (2548) ท้าชน (2552) มึงกูเพื่อนกันจนวันตาย (2555) และ อันธพาล (2555) และส่วนที่สองคือ การตีความถอดรหัสจากผู้รับสารที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับนักเลงอันธพาล จำนวน 2 คน โดยใช้แนวคิดการศึกษาผู้รับสารตามแนวทางวัฒนธรรมศึกษาของ Stuart Hall ในการศึกษา

        ผลการศึกษาพบว่า ภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ไทยถือเป็นพื้นที่ผลิตซ้ำและปะทะกันระหว่างชุด อุดมการณ์หลัก (dominant ideology) และชุดอุดมการณ์ต่อต้าน (counter ideology) ผ่านองค์ประกอบทางด้านการเล่าเรื่องและองค์ประกอบทางด้านคุณลักษณะของตัวละครอยู่ตลอดเวลา หากแต่คุณลักษณะเด่นภายใต้ขนบของการประกอบสร้างความหมายตัวละครชายที่ปฏิเสธอำนาจควบคุมของสังคม ก็คือ กลวิธีของชุดอุดมการณ์ต่อต้านที่สร้างความชอบธรรมให้กับตัวละครในลักษณะของการเป็นพื้นที่ “สีเทา” ที่ทำงานซุกซ่อนอยู่ภายใต้ชุดอุดมการณ์หลัก ซึ่งประกอบด้วยกลวิธีดังต่อไปนี้

        (1) การประกอบสร้างภาพตัวละครวัยรุ่นในฐานะของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม (2) การประกอบสร้างความเป็นชายในอุดมคติแต่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม (3) กลวิธีการผสมผสานทั้งด้านการผนวกรวมและการลงโทษ (4) ชัยชนะในช่วงต้นก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลาย (โครงเรื่อง) (5) ต่อต้านในบางประเด็นและยอมรับในบางประเด็น (6) กลวิธีผสมผสานความย้อนแย้งระหว่างของจริงและจินตนาการผ่านตัวละครและฉาก

        ในส่วนของการถอดรหัสความหมายของผู้รับสารที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับนักเลงอันธพาล พบว่า ข้อสังเกตจากการถอดรหัสของกลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ตรงมักจะถอดรหัสด้วยจุดยืน “ต่อรองความหมาย” กับสิ่งที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอ โดยถึงแม้ว่าภาพยนตร์ได้ทำการประกอบสร้างตัวละครให้มีลักษณะความเป็นมนุษย์ที่ผสมผสานกันระหว่างด้านความเป็นตัวละครเป็นพระเอก (The Hero) และด้านความเป็นตัวละครผู้ร้าย (The Villain) แต่กลุ่มตัวอย่างผู้รับสารที่มีประสบการณ์ตรงก็เลือกที่จะต่อรองความหมายเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์และจุดยืนในสังคมของกลุ่มตนเองบนโลกแห่งความเป็นจริงให้มีลักษณะแตกต่างไปจากโลกแห่งแฟนตาซี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-09-2023