ทิศทางและการปรับตัวในยุคดิจิทัลของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ชาติณรงค์ วิสุตกุล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย, คนไทยเชื้อสายจีน, แหล่งทุน, แหล่งรายได้, หนังสือพิมพ์ผู้นำ, หนังสือพิมพ์ข่าวทั่วไป

บทคัดย่อ

            หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2450 และมีจำนวนมากถึง 95 ฉบับ แต่ปัจจุบันได้ทยอยปิดกิจการเหลือเพียง 6 ฉบับเท่านั้นที่ยังมีวางจำหน่าย ทั้งที่คนจีนที่เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีนมีอยู่จำนวนมาก และสืบทอดเชื้อสายต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งในอดีตหนังสือพิมพ์ภาษาจีนยังเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับชาวจีนโพ้นทะเล และระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยด้วยกัน เมื่อเทคโนโยลีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ถูกรุกไล่และจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทยก็หนีไม่พ้นวิกฤตนี้เช่นกัน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแหล่งทุน นโยบาย และรูปแบบการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาบทบาทหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย และศึกษาทิศทางและการปรับตัวของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เอกสารหนังสือพิมพ์ภาษาจีนทั้ง 6 ฉบับ และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าของหรือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จำนวน 6 คน นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ 1 คน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ 1 คน และประธานหอการค้าไทย-จีนอีก 1 คน

        ผลการวิจัยพบว่า ด้านนโยบายส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากเดิม เนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่พันธกิจการสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงอยู่ มีเพียงฉบับเดียวที่สนับสนุนไต้หวัน ด้านรูปแบบส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์ผู้นำ เนื้อหามีทั้งข่าวหนักและข่าวเบา เน้นข่าวที่เกี่ยวกับคนจีนในต่างประเทศและข่าวต่างประเทศมากกว่าข่าวในประเทศไทย ด้านรายได้มาจากค่าโฆษณาและการลงประกาศข่าวต่างๆ จากสมาคมจีนและระบบอุปถัมภ์ รองลงมาคือ รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท ด้านบทบาทหน้าที่มี 3 ฉบับยังคงบทบาทเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมี 3 ฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทไปเนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แต่แนวทางการสนับสนุนทางฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่หรือฝั่งไต้หวันของแต่ละฉบับนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ในด้านทิศทางและการปรับตัวสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่ไม่มีการปรับตัว (2) กลุ่มที่กำลังปรับตัว และ (3) กลุ่มที่มีการปรับตัวแล้ว ซึ่งมีข้อเสนอแนะ คือ หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในไทยควรปรับรูปแบบการนำเสนอใหม่ ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายโดยเปิดพื้นที่ให้กับคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นต่างๆ มากขึ้น ยกเลิกระบบอุปถัมภ์แบบเก่า และขยายไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ ได้แก่ เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ เป็นต้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-09-2023