ความพิการกับความปกติธรรมดา: การต่อสู้เชิงความหมายความพิการของ คนพิการในยูทูบ
คำสำคัญ:
การเล่าเรื่อง, ชีวิตประจำวัน, ความพิการ, ความธรรมดา, ความปกติบทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง การเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคนพิการในสื่อออนไลน์กับการต่อสู้เชิงความหมายของความพิการ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคนพิการในสื่อออนไลน์กับการสร้างความหมายความธรรมดาเกี่ยวกับความพิการ โดยใช้การวิเคราะห์ตัวบทจากคลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ ยูทูบ (YouTube) ของคนพิการต่างประเทศจำนวน 25 ตัวอย่าง และคนพิการไทยจำนวน 23 ตัวอย่าง
การวิจัยใช้แนวคิดปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน (practice of everyday life) ของ Michel de Certeau ที่เห็นว่า ชีวิตประจำวันเป็นสนามต่อสู้ของปัจเจกผู้กระทำการกับโครงสร้างวิธีคิดของสังคม และแนวคิดเกี่ยวกับความพิการ ในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมความพิการและวาทกรรมเกี่ยวกับความพิการในสังคม รวมถึงแนวคิดการเล่าเรื่องตามองค์ประกอบการเล่าเรื่องในสื่อ เพื่อเป็นกรอบในการศึกษาวิธีการสื่อสารของคนพิการเพื่อต่อสู้ทางความหมายความพิการ และแนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่เพื่ออธิบายการต่อสู้เชิงขับเคลื่อนทางสังคมของคนพิการ แนวคิดสื่อสังคมออนไลน์เพื่ออธิบายบทบาทของสื่อยูทูบ รวมทั้งแนวคิดการสร้างความหมายทางสังคม เพื่อเป็นกรอบในการทำความเข้าใจ “ความเป็นจริง” ที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาในโลกแห่งความหมาย
ผลการศึกษาพบว่า การเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคนพิการในสื่อออนไลน์ มีการสร้างความหมาย “ความธรรมดา” โดยใช้วิธีการสื่อสารผ่านชีวิตประจำวัน ได้แก่ กิจกรรมยามว่าง กิจวัตร และกิจกรรมด้านความสัมพันธ์ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก พ่อ-ลูก และคู่รัก และใช้มุมมองในการเล่าเรื่องแบบบุรุษที่หนึ่งที่ขจัดเงื่อนไขความพิการ ได้แก่ ผู้หญิง คู่รัก คนที่นิยามความพิการด้วยตนเอง คนที่พึ่งพาตนเองได้ คนที่ทำสิ่งใดๆ ได้ และคนที่แบ่งปันความสุข นอกจากนั้น กลวิธีการสื่อสารคือการแสดงจุดเน้นกับสิ่งที่เป็นคุณค่าในชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ อิสรภาพทางร่างกาย ความแตกต่างหลากหลาย การได้รับประสบการณ์ การก้าวข้ามอุปสรรค และความสุข โดยกลวิธีการสื่อสารเน้นการปรากฏตัวของคนพิการเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลัก และการแสดงความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับลักษณะของเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ยูทูบ รวมถึงโครงเรื่องมีการสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน และขอบเขตเป็นเรื่องระดับชีวิตประจำวันของบุคคล อีกทั้งกลวิธีการสื่อสารประเด็นความขัดแย้งกับวิธีคิดของสังคมที่มีต่อคนพิการทั้งโดยตรงและแบบแฝง อันได้แก่ ความพิการไม่ใช่เงื่อนไขต้องถูกกำหนดนิยามไว้แบบตายตัว ไม่ใช่เงื่อนไขแห่งความผิดปกติและความบกพร่อง ไม่ใช่เงื่อนไขต่อความสามารถหรือความประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่เงื่อนไขต่อการขาดอิสรภาพทางร่างกาย ไม่ใช่เงื่อนไขต่อความงาม สิทธิในการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรของสตรี และไม่ใช่เงื่อนไขต่อการขาดความสุขในชีวิต และวิธีการสื่อสารด้านภาพและเสียง เช่น ใช้การถ่ายทำและการตัดต่อภาพเสียงที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่ค่อยปรุงแต่งเติมเสริมด้วยเทคนิคประดิษฐ์ด้านภาพและเสียงมากนัก ช่วยสื่อถึงความธรรมดาในชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างชัดเจนและตรงไปตรงมา
ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ การเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคนพิการในสื่อออนไลน์คือการต่อสู้เชิงความหมายของความพิการผ่านการสื่อสารบนยูทูบ เป็นพื้นที่ที่พวกเขาเป็นผู้กระทำการสื่อสารได้ด้วยตนเอง โดยเน้นความสำคัญในการต่อสู้ทางความหมายความธรรมดาเกี่ยวกับความพิการคือการสร้างการรับรู้ถึงความเท่ากัน (perceived equality) ในโลกทางความหมายในพื้นที่สื่อ ผ่านความปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันของคนพิการ การสื่อสารเรื่อง “ค่าของความพิการ” ซึ่งกำหนดค่าของความพิการที่แตกต่างจาก “สิ่งที่ไม่ดี ความบกพร่อง อุปสรรค ความผิดปกติ” ให้กลายเป็น “สิ่งที่เป็นปกติธรรมดาของมนุษย์” เป็นการชู “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ที่ต่างมีและปรารถนาในเรื่องนี้เช่นเดียวกันทุกคน