ช่างภาพสารคดีกับการชุมนุมทางการเมือง: การสร้างความหมายผ่านการถ่ายภาพ และการออกแบบหนังสือ กรณีหนังสือภาพ End in This Generation

ผู้แต่ง

  • กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

ภาพถ่ายสารคดี, การถ่ายภาพเชิงวารสารศาสตร์, การชุมนุม, การประท้วง, หนังสือภาพ

บทคัดย่อ

        หนังสือภาพถ่าย End in This Generation เป็นหนังสือภาพถ่ายสารคดีที่บันทึกเรื่องราวการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ท้าทายความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม หรือแม้แต่สัญลักษณ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของคนรุ่นเก่าระหว่างปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2564 หนังสือภาพถ่ายเล่มนี้มีกระบวนการทำงานที่ส่งผลต่อการสร้างความหมายของการชุมนุมทางการเมืองสองขั้น ขั้นแรกคือ กระบวนการถ่ายภาพในฐานะช่างภาพสารคดีที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์การชุมนุมย่อยครั้งต่างๆ และขั้นตอนที่สองคือ การคัดเลือกภาพถ่ายเพื่อร้อยเรียงเนื้อหาและออกแบบหนังสือภาพ ที่เป็นการหาเส้นเรื่องการนำเสนอหรือ “ความหมายร่วม” ของเหตุการณ์ย่อยทั้งหมด เพื่อกำหนดแก่นของหนังสือภาพ โดยทั้งสองขั้นตอนจะต้องอาศัยแนวคิดจริยธรรมการถ่ายภาพเข้ามาเป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงาน เนื่องจากการถ่ายภาพในเหตุการณ์การชุมนุมเช่นนี้อาจเกิดผลกระทบต่อบุคคลในภาพและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และผลกระทบทางกฎหมายที่อาจตามมาด้วย

          ผลการทำงานพบว่า ในการบันทึกภาพ ช่างภาพจะมองหาความหมายผ่านภาพสองรูปแบบ คือ ความหมายตามเหตุการณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเป็นความหมายลำดับแรก บอกเล่าความเป็นไปของเหตุการณ์ จากนั้นจึงมองหาความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่จะมีความลึกมากขึ้น สะท้อนความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้ร่วมชุมนุม ตลอดจนการตีความเหตุการณ์ของช่างภาพ ซึ่งความหมายในลำดับที่สองนี้จะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจและรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นการคัดเลือกภาพและการร้อยเรียงภาพจะสร้างการกำหนดความหมายขั้นที่สาม คือ ความหมายร่วมของทุกเหตุการณ์ ซึ่งความหมายร่วมที่เกิดขึ้นนี้จะย้อนกลับไปส่งผลการทำงานถ่ายภาพ ทำให้ช่างภาพเริ่มมองหาเหตุการณ์หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนความหมายร่วมในหนังสือภาพ หากพบความหมายร่วมแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสถ่ายภาพที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น การนำเสนอภาพต้องให้ความเป็นธรรมกับข้อเท็จจริงและบุคคลในภาพให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางข้อจำกัดการทำงานในพื้นที่ขัดแย้ง ดังนั้น การถ่ายภาพและการเลือกใช้ภาพจึงต้องพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบโดยใช้กรอบจริยธรรม เพราะบางสถานการณ์มีความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรืออาจมีผลกระทบทางกฎหมาย กรอบจริยธรรมที่ใช้นั้นอาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพราะเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนอย่างมากจนไม่สามารถใช้กรอบจริยธรรมกรอบใดกรอบหนึ่งอย่างตายตัวได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01-05-2024