การพัฒนาตราสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันเทศแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านทับน้ำ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • อภิเษก บานแย้ม คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • ณัฐวิภา สินสุวรรณ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ:

ตราสินค้า, การมีส่วนร่วม, ผลิตภัณฑ์ชุมชน, ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, ความพึงพอใจต่อตราสินค้า

บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาตราสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันเทศแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านทับน้ำ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ (2) ศึกษาความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อตราสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันเทศแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านทับน้ำ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การพัฒนาตราสินค้าเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันเทศจำนวน 5 คน ประกอบกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและด้านการตลาด จำนวน 2 คน ซึ่งสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ในขณะที่การศึกษาความพึงพอใจใช้การสำรวจด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มผู้บริโภค 100 คน ซึ่งสุ่มตัวอย่างแบบอิงความสะดวก

ผลการวิจัยพบว่า (1) การพัฒนาตราสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่หนึ่ง การศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชนและการออกแบบตราสินค้า ขั้นตอนที่สอง การวิเคราะห์ความต้องการพัฒนาตราสินค้าของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชุมชน ขั้นตอนที่สาม การออกแบบตราสินค้าตามแนวทางองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ ขั้นตอนที่สี่ การประเมินตราสินค้าโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ด้านการตลาด และกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชุมชน และขั้นตอนที่ห้า การประเมินตราสินค้าจากกลุ่มผู้บริโภค (2) ความพึงพอใจต่อตราสินค้า พบว่า กลุ่มผู้บริโภคพึงพอใจตราสินค้าแบบใหม่มากกว่าแบบดั้งเดิมในทุกด้าน โดยในภาพรวมมีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (= 4.37, S.D. = 0.71) เมื่อเปรียบเทียบกับตราสินค้าแบบดั้งเดิมยังพบว่า กลุ่มผู้บริโภคระบุว่า ตราสินค้าแบบใหม่เห็นแล้วชื่นชอบ และทำให้จดจำได้มากกว่าแบบดั้งเดิม นอกจากนั้น ตราสินค้าแบบใหม่ยังทำให้อยากซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปมากกว่าแบบดั้งเดิมด้วย

          ดังนั้น การพัฒนาตราสินค้าแบบมีส่วนร่วมจึงควรให้ความสำคัญกับ (1) การผสานการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการตลาด (2) การนำองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ ได้แก่ รูปแบบภาพ รูปแบบตัวอักษร และรูปแบบสี มาใช้ในการพัฒนาตราสินค้า และ (3) การประเมินตราสินค้าจากมุมมองผู้บริโภคก่อนนำตราสินค้าไปใช้งานจริง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01-05-2024