“แม่ญิงล้านนา” ในสื่อพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า): ความสัมพันธ์ของอำนาจที่ลื่นไหลไปมา ระหว่างพื้นที่การสื่อสารพิเศษในโลกศักดิ์สิทธิ์และโลกสามัญ
คำสำคัญ:
สื่อพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า), ผู้หญิงล้านนา, ความสัมพันธ์ของอำนาจ, พื้นที่การสื่อสารในโลกศักดิ์สิทธิ์และโลกสามัญบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของอำนาจผู้หญิงล้านนาที่ลื่นไหลไปมาระหว่างพื้นที่การสื่อสารพิเศษในโลกพิธีกรรมกับโลกสามัญจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตามกรอบแนวคิดการวิเคราะห์สื่อพิธีกรรมพื้นบ้านและอำนาจที่เกิดจากตัวสื่อ ทฤษฎีสตรีนิยมเชิงวิพากษ์ แนวคิดโครงสร้างสังคม vs. ผู้กระทำและการปฏิบัติการ แนวคิด habitus แนวคิด field และแนวคิดทุน ของ Pierre Bourdieu โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากเอกสารบันทึก การสังเกตการณ์ภาคสนาม การสัมภาษณ์เจาะลึก แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ผลการวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ของอำนาจผู้หญิงล้านนาลื่นไหลไปมาระหว่างพื้นที่การสื่อสารพิเศษในโลกพิธีกรรมกับโลกสามัญ ทั้งในครัวเรือน ภายในชุมชน และภายนอกชุมชน โดยในยุคผู้หญิงเป็นใหญ่ (ก่อนปี พ.ศ. 1984) ผู้หญิงใช้การสวมรอยอำนาจจากความคุ้มครองของผีปู่ย่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบทบาทการเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจแบบเครือญาติ และบทบาทผู้นำในการประกอบพิธีกรรมของสายตระกูลที่ตนเองได้รับ ต่อมายุคผู้หญิงเปลี่ยนแปลงสถานะและตัวตนแบบใหม่ (พ.ศ. 1984-2539) การเข้ามาของพุทธศาสนา นโยบายภาครัฐส่วนกลาง และระบบทุนนิยมเงินตรา ส่งผลให้อำนาจจากตัวสื่อพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) ไม่สอดคล้องกับความรับผิดชอบที่ต้องเผชิญจากภายนอกชุมชน ทำให้ผู้หญิงใช้การถอดรูปอำนาจของผีปู่ย่า และทำการแปลงร่างใหม่ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ จนเมื่อถึงยุคผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่สนามประลองและแข่งขัน (พ.ศ. 2540-2564) ผู้หญิงใช้การแตกตัวตนจากสถานะทางสังคมในพื้นที่การสื่อสารอันหลากหลาย ผ่านความรู้ในแบบฉบับของผู้หญิง ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยตัวสื่อพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) ที่หดตัวลง การเข้ามาของเพศที่สามในพื้นที่พิธีกรรม กระแสโลกาภิวัตน์ และสังคมแห่งความเสี่ยง ซึ่งความสัมพันธ์ของอำนาจผู้หญิงในแต่ละยุคเป็นการแสดงบทบาทสำคัญของปฏิบัติการทางสังคมที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างสังคมภายใต้กฎเกณฑ์ที่เรียกว่า habitus ดั้งเดิมและสร้างใหม่ พร้อมไปกับการสร้างและการสั่งสมทุนเก่าและใหม่ ตั้งแต่ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจ ให้กลับกลายเป็นทุนทางสัญลักษณ์เพื่อก่อให้เกิดอำนาจเชิงวัฒนธรรมในที่สุด หากผู้หญิงไม่มีอำนาจแล้วนั้น ย่อมไม่สามารถกระทำการตามพันธกิจที่พึงได้รับมาอย่างต่อเนื่อง