สื่อโทรทัศน์กับสังคมผู้สูงอายุไทยในยุคโทรทัศน์ดิจิทัล
คำสำคัญ:
รายการโทรทัศน์, ผู้สูงอายุ, โทรทัศน์ดิจิทัลบทคัดย่อ
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานกว่า 10 ปี ส่งผลให้สังคมไทยต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะด้านสื่อสำหรับผู้สูงวัย เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้ ข่าวสาร และข้อมูลในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ การสำรวจงานวิจัยและงานวิชาการต่างๆ ที่ได้ทบทวน พบข้อมูลระบุว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เปิดรับสื่อโทรทัศน์มากที่สุด และเปิดรับเนื้อหาด้าน (1) สุขภาพ: ป้องกัน ดูแลรักษา ช่วยให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพทางร่างกายตามอายุได้ (2) ความรู้ ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ช่วยเสริมสร้างคุณค่าในตัวเอง ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อมั่น และถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของตนเอง (3) ศาสนา หลักคำสอน ความผูกพันกับสมาชิกในครอบครัว ช่วยทำให้จิตใจสงบ มีทัศนคติที่ดีต่อการดำรงชีวิตและเข้าสังคมได้ดี (4) สังคม ชุมชน นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อให้ทันคน ไม่ถูกโกงหรือโดนหลอก และมีเรื่องคุยกับคนอื่นได้มากขึ้น (5) เศรษฐกิจ: ออมเงิน ลงทุน และประกอบอาชีพ ช่วยจัดการการเงินของตนเองและครอบครัว แต่การสำรวจสถานการณ์สื่อโทรทัศน์ในรอบสิบปีที่ผ่านมา กลับพบว่า นับตั้งแต่การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบันมีการผลิตและออกอากาศรายการเพื่อกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุจำนวน 11 รายการ นับเป็นปริมาณที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรายการที่ผลิตเพื่อผู้ชมกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ และเนื้อหายังไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้สูงอายุได้เพียงพอ ผู้ผลิตสื่อจึงควรทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักให้ชัดเจน และมุ่งเน้นการออกแบบเนื้อหาและผลิตรายการเพื่อผู้สูงอายุอย่างแท้จริง