Social Class, Social Capital, and Social Comparison on Social Media among Young Adults in Thailand
คำสำคัญ:
ชนชั้นทางสังคม, ทุนทางสังคม, การเปรียบเทียบทางสังคม, สื่อสังคมออนไลน์, วัยรุ่นบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับการเปรียบเทียบทางสังคมของกลุ่มผู้ใช้งานวัยรุ่นไทย โดยมุ่งเน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทางสังคม (social class) ทุนทางสังคม (social capital) และการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison) บนสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มวัยรุ่นไทย งานวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) จากผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 15 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่ม ชนชั้นล่าง (LC) ชนชั้นกลาง (MC) และชนชั้นสูง (UC) กลุ่มละ 5 คน
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า สื่อสังคมออนไลน์สามารถเพิ่มการเปรียบเทียบแนวนอน (horizontal comparison) ในกลุ่มเพื่อนสนิทและสมาชิกชุมชน ซึ่งส่งผลเสียต่อความนับถือตนเองหรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ระดับความเครียด (stress) และทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate depression) ในทุกชนชั้นทางสังคม ผู้เข้าร่วมวิจัยมักจะเปรียบเทียบเรื่องมาตรฐานความงาม การเงิน ความสามารถ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และวิถีชีวิต ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต
ความรุนแรงของผลกระทบเหล่านี้แตกต่างกันไปตามระดับของการเปรียบเทียบและภูมิหลังทางสังคมและทุนของครอบครัวของผู้เข้าร่วมวิจัย งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ทุนภายในครัวเรือน (bonding capital) ในกลุ่มผู้เข้าร่วม LC ไม่สามารถสนับสนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอจากสมาชิกที่มีลักษณะหรือพื้นฐานคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับ ความนับถือตนเองลดลง และเกิดภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ในขณะเดียวกัน ทุนภายในชุมชน (bridging capital) มีอิทธิพลต่อการเปรียบเทียบแนวนอนในกลุ่มผู้เข้าร่วม MC บนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งโปรไฟล์สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับความทันสมัย ชื่อเสียง และความนิยม เนื่องจากตำแหน่งกึ่งกลางของชั้นโครงสร้างทางสังคม กลุ่มผู้เข้าร่วม MC จึงมีลักษณะท้าทายลำดับชั้นแบบดั้งเดิม และเป็นตัวแทนของกลุ่มที่เกิดใหม่และมีฐานะร่ำรวยขึ้น ในทางกลับกัน ทุนภายนอกชุมชน (linking capital) ให้ประโยชน์ทางทรัพยากรอย่างมากกับผู้เข้าร่วมวิจัย UC ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อแสดงวิถีชีวิต (lifestyle) ที่สวยงาม หรูหรา และสง่า
กล่าวโดยสรุป งานวิจัยนี้โต้แย้งว่า มโนทัศน์ของชนชั้นทางสังคม ทุนทางสังคม และอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลมีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ในแง่ของวิธีที่ผู้เข้าร่วมจากชนชั้นทางสังคมต่างๆ เปรียบเทียบทางสังคมบนสื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเสนอความจำเป็นในการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของผู้เข้าร่วม ความเป็นตัวตน และวาทกรรมของพวกเขาด้วยมุมมองที่ละเอียดอ่อน งานวิจัยนี้จึงเน้นการเป็นตัวแทนหลายมิติของอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติอัตลักษณ์ที่มีพลวัตและยืดหยุ่น