ภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร)
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาภาวะผู้นำตามทฤษฎีตะวันตกและภาวะผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนา 2. ศึกษาภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) และ 3. ศึกษาประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน 15 รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview Form) วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสัมภาษณ์ ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา (Descriptive Content analysis Technique)
ผลการวิจัยพบว่า
- ภาวะผู้นำ เป็นการที่ผู้นำใช้อิทธิพลในความสัมพันธ์ ซึ่งมีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติการและอำนวยการ โดยใช้กระบวนการติดต่อซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีศิลปะหรือความสามารถของบุคคลหนึ่งที่จูงใจหรือใช้อิทธิพลต่อบุคคลอื่นให้ร่วมใจกันดำเนินการจนกระทั่งบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนภาวะผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ผู้นำแนวพุทธจะเป็นผู้มีหลักธรรมในการเป็นผู้นำ เช่น หลักในการครองตน ด้วยหลักพรหมวิหาร และครองงานด้วยการมีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการบริหารจัดการและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีดังในงานวิจัยนี้ที่ได้ศึกษาหลักทุติยปาปณิกธรรม
- พระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) มีการบริหารจัดการโดยเริ่มต้นจากการวางระเบียบ กฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันก่อน เป็นผู้นำในการฟื้นฟูสำนักเรียนบาลีขึ้นในวัด เป็นผู้วางแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการสำนักศาสนศึกษา เป็นผู้นำในการจัดตั้งโรงเรียนเด็กก่อนเกณฑ์เป็นแห่งแรก เป็นผู้นำในการจัดตั้งกองทุนมูลนิธิศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาของวัดคูยางและเด็กก่อนเกณฑ์ เป็นผู้เขียนหลักธรรมเตือนใจแก่พุทธศาสนิกชนในโอกาสและวาระต่าง ๆ และเป็นพระมหาเถระนักพัฒนา นักคิด นักออกแบบเสนาสนะภายในวัด จัดหมวดหมู่สังฆาวาส พุทธาวาสอย่างเป็นระบบ
- ภาวะผู้นำในการประยุกต์ใช้หลักทุติยปาปณิกธรรมของพระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร) ในการบริหารจัดการคณะสงฆ์ พบว่า
3.1 ด้านการปกครอง พระธรรมภาณพิลาสเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการกำหนดนโยบายในการปกครองที่มีรูปแบบและวิธีการทำงานที่แน่นอนและชัดเจน มีการกระจายอำนาจการปกครอง การสร้างค่านิยมที่ดี การส่งเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการสนับสนุนการทำงานที่มีการมีความยุติธรรมในการแก้ไขอธิกรณ์ โดยมุ่งเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพในการทำงาน และก่อให้เกิดความสามัคคีของหมู่คณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร และเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชา
3.2 ด้านศาสนศึกษา พระธรรมภาณพิลาสเป็นผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้พระภิกษุและสามเณรได้มีความรู้อย่างแตกฉานเพื่อที่จะได้อบรมสั่งสอนผู้อื่นได้ จึงได้มีการสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งด้านภาคปริยัติธรรม คือ บาลี และนักธรรมและในระดับอุดมศึกษาและหลักสูตรพัฒนาพระสังฆาธิการ
3.3 ด้านการเผยแผ่ พระธรรมภาณพิลาสได้มีการจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนซึ่งเน้นการเผยแผ่เชิงรุกและได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เจ้าคณะพระสังฆาธิการ พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองจังหวัดกำแพงเพชรให้มีความสามารถในการสื่อสารและเทคนิควิธีการในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า
3.4 ด้านการศึกษาสงเคราะห์ พระธรรมภาณพิลาสสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้มีโอกาสได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมเพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตอันจะเป็นการช่วยรักษาความมั่นคงของชาติ และยังทำให้พระภิกษุสามเณรมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถจากที่ได้ศึกษานำมาอบรมสั่งสอนแก่เด็ก เยาวชนและประชาชน
3.5 ด้านการสาธารณูปการ พระธรรมภาณพิลาสมีนโยบายให้คณะสงฆ์การดูแล รักษาและพัฒนาศาสนสมบัติ รวมถึงอนุรักษ์โบราณสถานและจัดทำแผนพัฒนาวัดอย่างเป็นระบบ
3.6 ด้านการสาธารณสงเคราะห์ พระธรรมภาณพิลาสได้ส่งเสริมกิจการสาธารณะประโยชน์ เช่น โครงการวัดช่วยวัด โครงการส่งเงินสมทบทุนมูลนิธิต่าง ๆ รวมทั้งความสำคัญในการอนุรักษ์ศาสนสถานไว้ให้ชนรุ่นหลังด้วย
Article Details
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับวารสารวิจยวิชาการ ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจยวิชาการ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิจยวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อการกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารวิจยวิชาการก่อนเท่านั้น
References
2. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
3. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร. (2557). การปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร.