แบบแผนการสื่อสารของสหกรณ์ออมทรัพย์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยหลักธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน

Main Article Content

บำรุง สุขพรรณ์
บุญเลิศ โอฐสู
กมล ฉายาวัฒนะ
รังษี สุทนต์
จุฑามาศ วารีแสงทิพย์
ชญาน์นันท์ หนูไชยะนันท์
กนกวรรณ กรุณาฤทธิโยธิน

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสภาพทั่วไปของสหกรณ์ออมทรัพย์ 2. ศึกษาหลักธรรม ทฤษฎีการสื่อสารและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อการดำรงชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน และ 3. นำเสนอแบบแผนการสื่อสารของสหกรณ์ออมทรัพย์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยหลักธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้านเอกสาร คือการวิเคราะห์จากรายงานการประชุมประจำปีของกลุ่มประชากรศึกษา คือ สหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 10 แห่ง โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) ศึกษารวบรวมรายงานการประชุมประจำปีของสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 10 แห่ง แล้ววิเคราะห์สภาพทั่วไปของสหกรณ์ออมทรัพย์ 2) รวบรวมวิเคราะห์หลักธรรม ทฤษฎีการสื่อสารและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3) สังเคราะห์เป็นแบบแผนการสื่อสารในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยหลักธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำเนินชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน  


ผลการวิจัยพบว่า


1) สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นองค์กรหนึ่งที่แยกมาจากสหกรณ์ ซึ่งถือกำเนิดเกิดทางโลกตะวันตกประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18 และสหกรณ์ในไทยเกิดขึ้นปลายสมัยรัชการที่ 5 โดยมีแนวคิดคือการแก้ไขปัญหาความยากจน การเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม มีหลักการ 7 ได้แก่ (1) การรับสมาชิก (2) ความเสมอภาคกัน (3) การมีส่วนร่วม (4) การมีเสรีภาพ (5) การให้การศึกษา อบรม และสารสนเทศ (6) ความร่วมมือ (7) หลักการเพื่อสังคม และสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 10 แห่ง มีการสื่อสารในการสร้างภาพลักษณ์หรือการประชาสัมพันธ์เพื่อเน้นย้ำให้สมาชิกหรือคนทั่วไปสามารถจำได้ โดยหัวใจสำคัญของสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ที่คือการฝาก การถอน การกู้เงิน และกิจกรรมด้านอื่น ๆ แต่ยังไม่สามารถสื่อสารในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2) หลักธรรมในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการดำเนินชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน ได้แก่ หลักพรหมวิหาร 4 คือ (1) เมตตา ความรักความปรารถนาดีมีไมตรีต่อกัน (2) กรุณา ความสงสารช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ (3) มุทิตา ความเบิกบานพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และ (4) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางมองตามความเป็นจริง และหลักสังคหวัตถุ 4 ได้แก่ (1) ทาน การแบ่งปัน ช่วยเหลือ สงเคราะห์ด้วยทุน หรือทรัพย์สินสิ่งของ ตลอดจนถึงความรู้ ความเข้าใจ และศิลปวิทยา  (2) ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน คือกล่าวคำสุภาพ ไพเราะ น่าฟัง ชี้แจงแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเหตุผลเป็นหลักฐาน (3) อัตถจริยา ทำประโยชน์ (4) สมานัตตตา เอาตัวเข้าไปสมานให้ความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบและเสมอในสุขทุกข์ คือ ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน ส่วนทฤษฎีการสื่อสาร มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ได้แก่ (1) ผู้ส่งสาร  (2) สารหรือเนื้อหาข้อมูล (3) ช่องทางการสื่อสารหรือสื่อ และ (4) ผู้รับสาร โดยต้องมีคุณสมบัติในการเป็นผู้ส่งสารที่ดี สารก็ต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ รหัส เนื้อหา และการจัดเรียบเรียงลำดับสาร


3) แบบแผนการสื่อสารของสหกรณ์ออมทรัพย์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยหลักธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน คือการนำเอาหลักพรหมวิหาร 4 หัวใจที่ช่วยสื่อสารในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม หลักสังคหวัตถุ 4 หลักยึดเหนี่ยวใจคน ที่ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ 10 แห่ง สื่อสารในรูปแบบสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้วได้ใจของสมาชิกหรือคนทั่วไปอย่างเหนี่ยวแน่น และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันมีคุณลักษณะ 3 พร้อม ๆ กัน คือ (1) ความพอประมาณ  (2) ความมีเหตุผล (3) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ช่วยทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์สื่อสารสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา จนกระทั่งกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้โดยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในที่สุด

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กาญจนา แก้วเทพ. (2554). สื่อสารมวลชน ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.

2. จำนงค์ ทองประเสริฐ. (2550). ศาสนาปรัชญาประยุกต์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัท สหธรรมิก จำกัด.

3. ชูชีพ กลิ่นโท. (2556). ความพึงพอใจในการให้บริการตามหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 ของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขนครสวรรค์ จำกัด. (วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา). บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

4. บุญมี จันทรวงศ์. (2543). ระบบสหกรณ์กับการพัฒนาประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

5. ปราโมทย์ ยอดแก้ว. (2557). การพัฒนารูปแบบสหกรณ์ตามแนวพุทธ. (ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา). บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

6. พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). (2555). ธรรมนูญชีวิต [A Constitution for Fiving]. (พิมพ์ครั้งที่ 119). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระพุทธศาสนาของธรรมสภา.

7. พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์. (2550). การใช้การสร้างตัวชี้วัดเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียงโดยเปรียบเทียบกับพุทธเศรษฐศาสตร์. (วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

8. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ 10, 11, 21, 22. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

9. สมบัติ แจ้งเจริญ. (2560). พุทธบูรณาการการบริหารงานสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำกัด. (ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

10. อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท. (2546). การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

11. Sameul, L. B. and Churchill, L. R. (1992). Discovering mass Communication. New York: Harper Collins.

12. Schramm, W. (1972). How communication works. London: Clive Bingley LTD.