การศึกษาวิเคราะห์ความงามของหอโหวด 101 จังหวัดร้อยเอ็ด ตามหลักสุนทรียศาสตร์

Main Article Content

มนสิชา กนกแก้ว
พระเทพวชิรวิมล
พระครูสีลสราธิคุณ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประวัติ พัฒนาการและการสร้างหอโหวด 101 จังหวัดร้อยเอ็ด 2) ศึกษาความงามในทางสุนทรียศาสตร์ และ 3) ศึกษาวิเคราะห์ความงามของหอโหวด 101 ตามหลักสุนทรียศาสตร์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม โดยศึกษาจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา เอกสารทางวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประชากรผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 20 รูป/คน เครื่องมือวิจัยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประวัติ พัฒนาการและการสร้างหอโหวด 101 จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า ชื่อที่มาของหอคอยแห่งใหม่ในประเทศไทยแห่งนี้ มาจาก “โหวด” เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับแรงบันดาลใจการสร้างโดย นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด หอโหวด 101 ตั้งอยู่กลางเมืองในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ก่อสร้างในระหว่างปี พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2563
2. ความงามในทางสุนทรียศาสตร์ พบว่า เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของความงาม ที่ว่าด้วยความงามและสิ่งที่งามทั้งในงานศิลปะและในธรรมชาติ โดยศึกษาประสบการณ์ คุณค่าความงามและมาตรฐานในการวินิจฉัยว่า ความงามคืออะไร โดยใช้ 4 ทฤษฎี เป็นหลักเกณฑ์ตัดสินความงามของหอโหวด 101 ได้แก่ 1) ทฤษฎีอัตนัยนิยม 2) ทฤษฎีปรนัยนิยม 3) ทฤษฎีสัมพัทธนิยม และ 4) ทฤษฎีอุบัติการณ์ใหม่
3. ความงามของหอโหวด 101 ตามหลักสุนทรียศาสตร์ พบว่า ทฤษฎีอัตนัยนิยม ความงามและการรับรู้ความงามขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละบุคคล ทฤษฎีปรนัยนิยม ความงามมีอยู่โดยตัวเอง มิให้ใครมาให้ค่าเชิงตัดสินความงามใดๆ ทฤษฎีสัมพัทธนิยม คุณค่าความงามมิได้มีอยู่ในตัวเอง แต่คุณค่าความงามทำให้ผู้พบเห็นเกิดการรับรู้ความงามขึ้นในจิตของแต่ละบุคคลเอง ทฤษฎีอุบัติการณ์ใหม่ คุณค่าขึ้นอยู่กับชุมชน สังคม ศาสนา เป็นต้น ดังนั้น หอโหวด 101 จึงถูกสร้างสรรค์เป็นวัตถุ เกิดเป็นความงาม ที่มีความโดดเด่นสะดุดตาของผู้พบเห็น

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)

References

จรัส พยัคฆราชศักดิ์. (2534). อีสาน 1 และศาสนาวรรณนิยมในท้องถิ่น เล่ม 1. กรุงเทพฯ: โอเดี้ยนสโตร์.

ประสพ ลี้เหมือดภัย. (2543). ศิลปนิยม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

พระใบฎีกา นรินทร์ สีลเตโช. (2565). ความงามของพระพุทธรูปไม้ชาวอีสานตามหลักอุบัติการณ์ใหม่. วารสารพุทธปรัชญาวิวัฒน์, 6(2), 614-623.

พระมหาสวนทา ธมฺมจารี (สุจารี). (2550). การศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาศิลปะตามทัศนะพุทธทาสภิกขุ. (วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต). พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

เพชรดา บัวแก้ว. (2532). หมอลำ: เอกลักษณ์คู่แผ่นดินอีสาน. สยามอายะ, 2(14), 109-112.

ลักษณวัต ปาละรัตน์. (2551). สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2546). ศิลปะชาวบ้าน Folk art. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

หอโหวด. (2566). Google Maps. เข้าถึงได้จาก http://googl/maps/CAzavGmudppdijzT9

หอโหวด. (2566). ROI ET TOWER. เข้าถึงได้จาก http://www.facebook.com/RoiEtTower/