วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 เล่มนี้ประกอบด้วยบทความที่มีสารัตถะมุ่งเน้นไปทางด้านการเมืองในสังคมไทยผ่านแง่มุมต่าง ๆ หลากหลาย ได้แก่ วรรณกรรมลิลิตพระลอ นาฏกรรมฟ้อนม่านมุยเซียงตา ชุมชนอโศก การจัดการซากศพ และสินค้าสัตว์ป่า สารัตถะเหล่านี้ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนว่าจะเป็นเรื่องในอดีตหรือเป็นเรื่องที่ไกลผู้คนในปัจจุบัน หากแต่เมื่อพิจารณาในความเป็นจริงแล้วสารัตถะเหล่านี้ยังคงสามารถนำมาใช้เตือนสติผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปสร้างสรรค์สังคม แก้ไขปัญหาสังคม และอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมปัจจุบันได้

            บทความแรกของวารสารฉบับนี้เรื่อง “บทเรียนทางการเมืองจากลิลิตพระลอ” ของ สมเกียรติ วันทะนะ ผู้เขียนได้ศึกษา “ลิลิตพระลอ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ราว พ.ศ. 1893 - 2112) ในฐานะเป็นตัวบทของความคิดทางการเมืองที่สอนในสิ่งที่กษัตริย์หรือผู้ปกครองแผ่นดินควรยับยั้งชั่งใจในเรื่องความรัก โดยที่กษัตริย์พึงหลีกเลี่ยงความรักที่มีลักษณะสุดขั้ว เพราะความรักเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหันต์ ทั้งในส่วนพระองค์และพระราชอาณาจักรของพระองค์ บทเรียนทางการเมืองจากลิลิตพระลอที่ผู้เขียนมุ่งนำเสนอคือ ความรักของพระลอที่ไม่ฟังคำทัดทานของพระราชมารดาจนนำไปสู่ความตาย และทำให้เมืองสรวงไร้กษัตริย์ปกครอง

            บทความเรื่อง “ฟ้อนม่านมุยเซียงตา: อิทธิพลนาฏกรรมพม่าในสังคมไทย ศึกษาวิเคราะห์ความหมายของชื่อชุดการแสดง บทขับร้อง และโครงสร้างของทำนองเพลง” ของ สิทธิพร เนตรนิยม ผู้เขียนได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชื่อชุดการแสดง บทขับร้อง และทำนองเพลง ที่ปรากฏในการแสดงชุดฟ้อนม่านมุยเซียงตา ภายใต้กรอบการศึกษาและระเบียบวิธีวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และการวิเคราะห์โครงสร้างทางดนตรี ผู้เขียนพบว่าฟ้อนม่านมุยเซียงตาเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมข้ามแดนระหว่างไทยกับพม่าที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ชื่อของการแสดงชุดนี้มีที่มาจากชื่อเพลง “เวซะยันตา” ซึ่งเป็นเพลงพม่าสำเนียงอยุธยา ที่ไทยนำมาบรรเลงเป็นเพลงแรกของชุดการแสดง โดยใช้บทขับร้องที่มีสำเนียงและข้อความบางคำคล้ายคลึงกับภาษาพม่า ที่เมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่ามีความหมายไปในเชิงรำพันถึงคนรักภายใต้สภาพแวดล้อมของป่าเขาอันทุรกันดาร ซึ่งแตกต่างไปจากบทขับร้องในเพลงเวซะยันตาของพม่าที่บรรยายถึงสภาพความงามของเมืองมัณฑเลย์ ส่วนทำนองเพลงฟ้อนม่านมุยเซียงตาโดยเฉพาะในเพลงแรกมีโครงสร้างของทำนองตรงกับเพลงเวซะยันตาของพม่ากว่าร้อยละ 75

            ต่อมาเป็นบทความเรื่อง “หมู่บ้าน - พุทธสถาน - โรงเรียนสัมมาสิกขา: การประกอบสร้างชุมชนทางศีลธรรมของชาวอโศก” ของ บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ ผู้เขียนได้ศึกษา “อโศก” ว่าเป็นขบวนการพุทธศาสนาที่ก่อรูปขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 ขบวนการนี้ปรากฏตัวตนเป็นองค์กรเอกเทศชัดเจนในปี 2518 เมื่อท่านโพธิรักษ์ผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญประกาศแยกตัวออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม ทำให้อโศกทำงานเผยแพร่พุทธศาสนาตามแนวทางของตนเอง โดยอ้างอิงการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยด้วยการก่อตั้งชุมชนอโศกขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศไทย พร้อมกับขยายเครือข่ายสมาชิกหรือ “ญาติธรรม” ออกไปอย่างกว้างขวาง ผู้เขียนได้มุ่งศึกษาชุมชนอโศกที่จังหวัดนครปฐม เพื่อทำความเข้าใจการประกอบสร้างขึ้นเป็นชุมชนทางศีลธรรม จากองค์ประกอบได้แก่ หมู่บ้าน พุทธสถาน และโรงเรียนสัมมาสิกขา ผู้เขียนได้พบว่าทั้งสามองค์ประกอบนี้เกื้อหนุนให้ชาวอโศกบรรลุถึงนิพพานหรือสิ้นทุกข์ได้ในลักษณะของกระบวนการลดละเลิกกิเลสอย่างสะสมค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการปฏิบัติแบบรวมหมู่ นอกจากนั้นยังทำให้อโศกจัดวางสถานะที่แน่นอนของตนเองในสังคมไทยในฐานะ “ตัวแบบที่เข้มงวด” สำหรับการฝึกฝนปฏิบัติธรรมและการผลิตทางเศรษฐกิจทั้งพึ่งตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน

            บทความเรื่อง “การเมืองเรื่องซากศพ: การกำจัดความสยดสยอง และควบคุมซากศพโดย “กระบวนการทำให้ศิวิไลซ์” ในสยามช่วงทศวรรษ 2430” ของ ภัทรนิษฐ์ เกียรติธนวิชญ์ ผู้เขียนศึกษาการปลงซากศพที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยแต่เดิมการปลงศพล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสยดสยองแก่ผู้ที่พบเห็นซึ่งปรากฏเป็นปกติในสังคมราษฎร ผู้เขียนพบว่าในช่วงทศวรรษ 2430 ชนชั้นนำสยามได้ริเริ่มสิ่งที่อาจจะเรียกว่า “กระบวนการทำให้ศิวิไลซ์” ซึ่งทำให้ความสยดสยองที่มีมาแต่เดิมกลายเป็นสิ่งตรงข้ามกับ “ความอารยะ” และมีการจัดการกับความสยดสยองเหล่านี้ผ่านการแต่งตั้งสัปเหร่อพร้อมออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อหวังให้สยามมีความเจริญและมีอารยะทัดเทียมกับตะวันตก ผลประการหนึ่งของการไล่ล่าตามความศิวิไลซ์แบบตะวันตกนี้คือรัฐสยามสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดมากขึ้นในชีวิตประจำวันของราษฎร ผ่านการบงการร่างกายและซากศพ

            บทความสุดท้ายเรื่อง “สินค้าสัตว์ป่า: ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของผู้ค้าลาวในตลาดชายแดนไทย – สปป. ลาว” ของ สุดารัตน์ ศรีอุบล และจักรพันธุ์ ขัดชุ่มแสง ผู้เขียนได้ศึกษาปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของผู้ค้าลาวที่จุดผ่อนปรนบ้านหนองมน พบว่าผู้ค้าลาวได้ใช้กลวิธีต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนที่เป็นการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย ปฏิบัติการดังกล่าวถูกปรับให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐและกฎระเบียบต่าง ๆ ในการควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดนของผู้คนและสินค้า โดยเฉพาะข้อห้ามเรื่องการซื้อขายสินค้าที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อนุสัญญาดังกล่าวส่งผลให้ผู้ค้าลาวไม่สามารถขายสัตว์ป่าได้อย่างเปิดเผยและเป็นอิสระดังเช่นในอดีต ทำให้ผู้ค้าลาวต้องใช้ปฏิบัติการโดยอาศัยพื้นที่ เวลา และโอกาสในการต่อรองกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้กิจกรรมการค้าสินค้าสัตว์ป่าสามารถดำเนินต่อไปได้

            นอกจากนี้ ในวารสารฉบับนี้ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง “Limology: ชายแดนศึกษากับเขต – ขันธ์วิทยาของพื้นที่ใน / ระหว่าง” โดย จักรกริช สังขมณี วิจารณ์โดย รัชพล แย้มกลีบ รวมถึงข่าวกิจกรรมวิชาการและศิลปวัฒนธรรมจำนวนหลายกิจกรรมที่สถาบันไทยคดีศึกษาจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2562 โดยกองบรรณาธิการได้รวบรวมและสรุปสาระสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้มาไว้ด้วย

            สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการฯ หวังว่าวารสารไทยคดีศึกษาจะได้เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวิชาการด้านไทยศึกษา และเป็นวารสารทางวิชาการที่ผู้สนใจให้การสนับสนุนต่อไป

Published: 2019-06-26