การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบ ON-HAND เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สำหรับเด็กปฐมวัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ผู้แต่ง

  • อรพร ทับทิมศรี -

คำสำคัญ:

การจัดการเรียนรู้แบบ on-hand, สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้, COVID-19

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบ ON-HAND ต่อพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สำหรับเด็กปฐมวัย ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรณีศึกษาโรงเรียนอนุบาลวัดพระโต อำเภอเมืองฯ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วย 1) รองผู้อำนวยการโรงเรียน/บุคลากรการศึกษา/ครูที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 12 คน 2) สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ตัวแทนผู้ปกครอง จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi structured Interview) ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกและกระบวนการสนทนากลุ่ม (Focus Group) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) และประเด็นแบบพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า การสะท้อนปัญหาจากครูผู้สอน คือ ผู้ปกครองไม่มีปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารผ่านทางไลน์ ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมในการช่วยดำเนินกิจกรรมจากใบงานที่ครูสั่ง ผู้ปกครองไม่เอาใจใส่ในในใบกิจกรรมที่ครูสั่ง การสะท้อนปัญหาจากผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 1) พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กปฐมวัย พบว่า การจัดการเรียนรู้แบบ ON-HAND นั้นไม่ทำให้เด็กนักเรียนมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย เนื่องจากใบงาน/ใบกิจกรรมที่ครูมอบหมายมานั้น ไม่มีกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายในกิจกรรมนั้นๆ มีแค่การเขียนและการโยงเส้น เด็กนักเรียนจึงไม่มีความสนใจในการเรียนรู้และใช้ร่างกายในการเรียนรู้ 2) ด้านพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย พบว่า การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบ ON-HAND นี้ทำให้เด็กไม่ได้มาโรงเรียนไม่ได้พบปะกับคุณครูและเพื่อนๆ ทำให้เด็กนักเรียนไม่เกิดการเรียนรู้ที่คงทน เด็กไม่มีใช้ความคิดจากใบงานที่คุณครูให้ และคลิปการสอนที่ครูส่งมาให้นักเรียนได้เรียนรู้เป็นคลิปที่ทำจากนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู 3) พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กปฐมวัย พบว่าแบบฝึกหัดดังกล่าวผู้ปกครองมองว่าเด็กไม่มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์เพราะเด็กวัยนี้มักมีความสุขในเล่นและพบปะกับเพื่อนๆ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ ON-HAND ทำให้เด็กไม่ได้พบปะหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดใดกับครูและเพื่อนทำให้เด็กอยู่ที่บ้านตลอดเวลานั้นเกิดความเครียดและไม่มีความสุขในการเรียนรู้ 4) พัฒนาการด้านสังคม พบว่า การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบ ON-HAND ที่ให้เด็กมารับใบงานที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นั้นทำให้พัฒนาการทางด้านสังคมของเด็กนักเรียนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในสังคมเท่าที่ควร แต่ทั้งนี้ก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมแบบใหม่ (New normal)

References

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2563). โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563, จาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/int_protection.php.

จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี และภมรศรี แดงชัย. (2563). คู่มือการจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19. นนทบุรี: บริษัท สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์ พับลิสชิ่ง จำกัด.

จีรพงษ์ ราชมณีและคณะ (2549). การศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ช่วงชั้นที่ 3 ของสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

สมนึก ภัททิยธนี. (2549). การวัดผลการศึกษา. กาฬสินธุ์: ประสานการพิมพ์.

อรอนงค์ ยะภักดี (2554). การพัฒนาศักยภาพครูในการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านและเขียนของนักเรียนโรงเรียนชุมชนเอื้องก่อนาดี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.

Office of the Basic Education Commission. (2020). Education in the digital age. Retrieved March 19, 2021, from https://www.posttoday.com/social/general/.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-25