กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์เนื้อหาแห่งบทบัญญัติกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457; พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (2) ศึกษาการใช้ความรุนแรงจากกลไกรัฐในการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (3) ศึกษาประสบการณ์และถอดบทเรียนเกี่ยวกับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยกลไกรัฐที่เกิดขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และหมู่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ (4) สังเคราะห์แนวทางการแก้ไขกฎหมาย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองในพื้นที่ บนฐานของการเคารพในหลักการสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
การวิจัยนี้ใช้แนวคิดหลักนิติธรรม ร่วมกับเกณฑ์มาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นกรอบในการวิเคราะห์กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการวิจัยเอกสาร ร่วมกับการวิจัยภาคสนาม เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มแบบเจาะจง การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ นักวิชาการ และนักกิจกรรมภาคประชาสังคม พร้อมทั้งการรวบรวมข้อมูลเชิงปรากฎการณ์กรณีการใช้กฎหมายพิเศษที่จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
ผลการศึกษาพบว่า กฎหมายความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรการระงับสิทธิเสรีภาพยังคงไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ
ข้อเสนอแนะ
1) ข้อเสนอแนะต่อนโยบายการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง คือ (1) ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ใช้บังคับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) ให้พื้นที่เป้าหมายอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใดฉบับหนึ่งเพียงฉบับเดียว และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความฉุกเฉิน ร้ายแรงของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (3) บังคับใช้กฎหมายตามกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศ (4) ปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน
2) แนวทางปรับปรุงระบบกฎหมายความมั่นคง เสนอให้บัญญัติหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความมั่นคงทางกฎหมายในระดับสูงสุด
3) ให้มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเชิงกระบวนการอย่างเป็นระบบ คือ (1) ให้องค์กรนิติบัญญัติมีอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจตัดสินสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร (2) การขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ (3) ระหว่างที่มีการใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายความมั่นคง ให้ศาลมีอำนาจควบคุม ตรวจสอบ และ (4) ให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อความรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง