บทบรรณาธิการ

ในทศวรรษที่ 1990 เมื่อเสรีนิยมใหม่ขยายตัวอย่างมากหลังการล่มสลายของสังคมนิยมภายใต้นามของโลกาภิวัตน์ (globalization) หรือจะโลกานุวัตน์  ความฝันที่จะให้ทุกๆ คนได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตลาดในส่วนต่างๆ ของโลกเป็นโครงการสำคัญ   ประเทศต่างๆ จะถูกยึดโยงเข้ากับระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเสรีนิยม  ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสรีนิยมที่ใช้กลไกทางสถาบันต่างๆ เข้าจัดระเบียบควบคุม 

ทุกๆ มิติจากรัฐไปจนถึงชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรนั้นเป็นแรงขับสำคัญ  ความเป็นเอกพันธุ์ทางวัฒนธรรม (cultural homogenization) ที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) หรือสังคมแอตแลนติคเหนือเป็นศูนย์กลางคือพลังสำคัญทางวัฒนธรรม   เส้นทางของการบรรจบกัน (convergence) เป็นความหวังที่ไม่ได้แตกต่างไปจาก Katholikos ที่บ่งบอกถึงทั้งหมดและความเป็นสากล จาก Modernization จนถึง globalization สภาวะที่สอดคล้องกัน (synchronicity) ทำให้ระเบียบโลกทรงประสิทธิภาพ

ความหวัง (hope) อันเป็นรากฐานสำคัญของเทววิทยาคริสต์ศาสนาย่อมทำให้อนาคตที่สดใส่เป็นภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  กรอบความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบไหลรินลงมา (trickle-down) หลังจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นภาพที่งดงาม  ความงดงามที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลนิยมที่จะมอบให้กับโลก  แต่ความหวังมักจะพังทลาย  ตลอดระยะเวลาหลังจากความถดถอยของสวัสดิการไปจนถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นสั่นสะเทือนความหวังเป็นอย่างมาก  ถึงแม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าช่องว่างทางชนชั้นที่ไม่ห่างมากหลังสงครามครั้งที่สองที่เศรษฐกิจขยายตัวนั้นไม่ได้เป็นภาพตัวแทนที่ดีทางประวัติศาสตร์  ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงทศวรรษที่ 1970 เป็นเรื่องพิเศษ

            ทศวรรษที่ 1970 อันเป็นเวลาของการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ทำให้ภาพของความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลกมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในประเทศโลกที่หนึ่ง  เช่น Immanuel Wallterstein เป็นต้น ถึงแม้ว่าความไม่เท่าเทียมกันจะได้รับการกล่าวถึงในประเทศโลกที่สามมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1940 แล้ว เช่น Raul Prebisch และ Hans Singer เป็นต้น  ความไม่เท่าเทียมกันระดับโลกยังดำเนินอยู่ต่อไป  ทั้งการเมืองระหว่างประเทศและภายในประเทศความไม่เท่าเทียมกันความชัดเจนมาก   สำหรับความไม่เท่าเทียมกันในศตวรรษที่สิบเก้าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางชนชั้นภายในประเทศ  ในขณะที่หลังสงครามโลกครั้งที่สองความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลกเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างของประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกัน

คุณลักษณะของความแตกต่างทางชนชั้นเป็น “ทุน” (capital) ทางชนชั้นที่กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในโครงสร้างทางชนชั้นของแต่ละประเทศ  แต่ยังรวมไปถึงโครสร้างทางชนชั้นของผู้คนจากประเทศต่างๆ ในโลก  กรอบความคิด ‘habitus’ ทางชนชั้นของนักสังคมวิทยา Pierre Bourdieu ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในโครงสร้างภายในประเทศ. ชนชั้นนำระดับโลกแยกขาดออกจากชนชั้นนำระดับท้องถิ่น  ชนชั้นนำระดับเมืองใหญ่แยกออกจากชนชั้นนำเมืองเล็กๆ  ลดหลั่นกันลงไปเรื่อยๆ  ความต้องการที่จะมีโลกทัศน์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ท้องถิ่นเป็นแรงปรารถนาที่สำคัญ  จักรวาลทัศน์เป็นเป้าหมาย

ถึงแม้ว่าความพยายามที่จะนำเสนอความแตกต่างของสภาวะสมัยใหม่ที่หลากหลาย (multiple modernities) จะแสดงความแตกต่างที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันก็ตาม  ความหลากหลายในระดับโลกแสดงคุณลักษณะของความแตกต่างในลักษณะปัจเจก (individualization) ในระดับประเทศ   ความเป็นปัจเจกย่อมทำให้การพิจารณาคุณลักษณะทางชนชั้นหรือลำดับขั้นไม่ได้มีความหมายอีกต่อไป

ความแตกต่างในกระบวนการของการทำให้เป็นปัจเจกนั้นสลายความสำคัญทางชนชั้น  วิถีแห่งปัจเจกเป็นวิถีที่ชนชั้นไม่ได้มีความหมาย  ลำดับขั้นของสายสัมพันธ์ทางแนวตั้ง (vertical) ไม่ได้เป็นมาตรฐานในการประเมินค่า  เส้นทางของเสรีภาพและทางเลือกมีมากขึ้น  แต่กลไกเหล่านี้มีความหมายทางวัฒนธรรมมากกว่าการเมืองและเศรษฐกิจ  เมื่อมาถึงอาณาเขตทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้วปัจเจกไม่ได้มีบทบาทสำคัญ 

ปัจเจกสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะทางชนชั้นด้วยการมีการไต่เต้าทางสังคม (social mobility) ไม่มีใครถูกครอบงำหรือถูกขูดรีด เพราะเป็นการแลกเปลี่ยน (exchange) ในตลาดที่ทุกๆ คนเป็น ‘rational agent’ และมีเสรีภาพที่จะเลือกว่าจะได้อะไร  ทุกอย่างจึงแต่ “ได้กับได้” (win-win) เพียงแต่ว่าได้มากได้น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับลำดับชั้นทางโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลก 

ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมหลีกหนีลำดับชั้นที่แต่ละประเทศอยู่ในลำดับที่แตกต่างกัน  ไล่ไปจนถึงลำดับชนชั้นนำภายในประเทศ  มาจนถึงชนชั้นล่างที่อาจจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ  ผู้คนจำนวนมากจึงไม่ได้มีแต่ “ได้กับได้” 

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

 

หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถติดต่อขอซื้อได้ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) หรือซื้อได้ที่สายส่งเคล็ดไทย

           

           

เผยแพร่แล้ว: 2022-04-26