Greta Thunberg (ไม่ว่าเธอจะเติบโตมาจากชนชั้นแบบไหน) ได้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสาร Time ประจำปี ค.ศ. 2019 การยกให้นักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมอายุน้อยเป็นบุคคลแห่งปีสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนจำนวนหนึ่งเป็นอย่างมาก ภาพที่แสดงสีหน้าและแววตาที่สุดแสนจะชิงชังของเธอที่มีต่อประธานาธิบดีคนสูงอายุแบบ Donald Trump เป็นภาพที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างรุ่น ความขัดแย้งของคนรุ่นหลังๆ ที่มีต่อคนรุ่นเก่าเป็นวิถีที่สำคัญอันหนึ่งของโลกศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าคนแก่ๆ ที่ถูกล้อเลียนว่า “OK Boomer”

เพียงแต่กลุ่มที่ปฏิเสธเรื่อง ‘Climate Change’ ไม่ได้มีเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ หรือ ‘Baby Boomer’ เท่านั้นแต่ยังปรากฏให้เห็นได้ในกลุ่มช่วงวัยอื่นๆ ด้วย ไล่ไปจนถึงชนชั้น กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ   ถึงกระนั้นก็ดี “วัย” ก็ยังเป็นภาพลักษณ์สำคัญของการเป็น “ผู้ปฏิเสธ” เรื่องโลกร้อน  จากการสำรวจของ Pew Research Center คนอายุน้อยรู้ถึงปัญหาเรื่องโลกร้อนดีกว่าคนแก่  ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกิดมาจากมนุษย์  คนอายุน้อยๆ หรือคนหนุ่มสาวก็จะรู้ดีกว่าคนแก่  สำหรับคนหนุ่มสาวปัญหา COVID-19 และโรคระบาดอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องของการแพร่โรคจากสัตว์ไปสู่คนหรือ ‘Zoonosis’ คำอธิบายหนึ่งก็คือปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการทำลายป่าจนทำให้ ‘zoonotic pathogen’ สามารถเข้าสู่คนได้สะดวกขึ้น

          ครั้นเมื่อพิจารณาปัญหาเรื่องโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมลงไปในระดับการเมืองก็จะพบไปถึงความแตกต่างของจุดยืนทางการเมือง ความคิดเรื่องโลกร้อนนั้นถูกมองว่าเป็นผลพวงของมนุษย์  แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งก็ปฏิเสธความคิดทางวิทยาศาสตร์แบบนี้  จากการสำรวจของ National Center for Science Education พบว่าครูที่เป็นรีพับลิกันจะยอมรับว่าสิ่งที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นความจริงตามข้อความที่ได้เขียนเอาไว้  ครูที่เชื่อในความคิดแบบนี้ไปจนถึงเรื่อง “รัฐเล็ก” (minimal state) หรืออยู่กับแนวทาง “ลิเบอร์เทเรี่ยน” (Libertarian)  จะมีแนวโน้มที่จะยอมรับเรื่องโลกร้อนน้อยกว่า  ในขณะเดียวกันก็มักจะนำเสนอแนวทางที่ต่อต้านความคิดเรื่องโลกร้อนด้วย 

          ในปี ค.ศ. 2009 เหล่านักวิทยาศาสตร์ 209 คนได้ยื่นเรื่องถึง American Physical Society ว่าให้เปลี่ยนแปลงคำอธิบายเรื่องโลกร้อน  ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือต้องการปฏิเสธเรื่องโลกร้อน หลังจากนั้นมีการศึกษาพบว่าประมาณ 86% ของคนเซ็นข้อเรียกร้องนี้เกิดก่อนปี ค.ศ. 1950 สำหรับคนที่เกิดก่อนปี ค.ศ. 1960 ก็อยู่ในปริมาณถึง 97%  ดังนั้นการปฏิเสธเรื่องโลกร้อนจึงเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์สูงอายุมากกว่านักวิทยาศาสตร์อายุน้อยๆ คนแก่ผิวขาวที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงเป็นพวกที่ปฏิเสธเรื่องโลกร้อนมากกว่านักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาว  วิชาวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่ข้อยืนยันความถูกต้อง  ใครเป็นพวกที่น่าเชื่อถือกว่ากันระหว่างนักวิทยาศาสตร์แก่กับนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม?

วิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) กลับทำให้ประจักษ์ได้ว่าข้อมูลที่อยู่ตรงหน้าก็พร้อมที่จะดำเนินไปในทิศทางที่ขัดแย้งกันได้เสมอ  ข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์สามารถที่จะแบ่งขั้ว (polarization) ได้เสมอ วิทยาศาสตร์ที่สร้างความสมเหตุสมผลมาจากการทดลองและข้อมูลเชิงประจักษ์ของเหล่านักวิทยาศาสตร์สูงอายุกับนักวิทยาศาสตร์อายุน้อยๆ จึงพร้อมเสมอที่จะมีความแตกต่างกันในข้อสรุป  เส้นแบ่งระหว่างอายุทำให้ “นักวิทยาศาสตร์สูงอายุ” จะถูกจัดให้เป็นพวก ‘OK Boomer’

“ความขัดแย้งระหว่างวัย” กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  หลังจาก “ความขัดแย้งระหว่างวัย” เป็นเรื่องร้อนๆ แห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนทำให้คำว่า “ช่องว่างระหว่างวัย”  (generation gap) กลายมาเป็นคำสำคัญ  แม้ว่าเรื่อง “วัย” หรือ “generation” จะเป็นปัญหามาตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้าแล้วก็ตาม  “วัย” ในฐานะหน่วยของการวิเคราะห์เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่คนหนุ่มจำนวนมากตายไปในสงคราม  ขบวนการคนหนุ่มสาว  (Youth Movement) ได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญทางการเมือง  แนวความคิดเรื่อง “วัย” ของ Karl Manheim (1928) นั้นเป็นตัวอย่างที่ดี

          สำหรับในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความร้อนแรงของ “การปะทะกันระหว่างวัย” หรือคนแก่กับคนหนุ่มสาว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่า Boomers กับรุ่นหลังนั้น ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  เหล่า “Boomers” ถูกโจมตีว่าเป็นพวก “Sociopath” หรือเป็น “หัวขโมย” ที่ได้ “ปล้น” สิ่งมีค่าในชีวิตของคนรุ่นหลังๆ ไป โดยคนสูงอายุเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้ได้ประโยชน์จากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเอาไว้เท่านั้น แต่ยังไม่ยอมปล่อยสิ่งมีค่าต่างๆ เหล่าให้กับคนรุ่นหลังๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอายุสิบถึงสี่สิบปี) ได้จัดการ ทั้งๆ ที่โลงศพจะเป็นอะไรที่อยู่ข้างหน้าของเหล่า “Boomers” แล้วก็ตาม  ในขณะเดียวกันเหล่า ‘Boomers’ ก็โจมตีคนรุ่นหลังๆ เช่นว่า ไม่ขยันทำงาน ฯลฯ กรอบความคิดแบบ ‘From Rag to Riches’ ของยุค ‘Gilded Age’ ยังเป็นคาถาสำคัญของคนสูงอายุ

          อย่างไรก็ดีตั้งแต่การขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ที่นำไปสู่การขยายตัวของความไม่เท่าเทียมกัน นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจโลก การจ้างแรงงานแบบไม่ถาวร การสิ้นสุดของสวัสดิการ ความไม่มั่นคงในชีวิตในมิติต่างๆ  การล่มสลายของภาคการเงินในปี ค.ศ. 2008 ไล่มาจนถึง COVID-19 ความร้อนแรงของความขัดแย้งระหว่างวัยอยู่ในอัตราเร่งที่หนักแน่น  คนหนุ่มสาวที่โลงศพยังอยู่อีกไกลนั้นจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาสิ่งที่ ‘Boomers’ ครอบครองเอาไว้กลับคืนมา  “ชีวิตและอนาคตของฉันจะไม่ยอมให้คนแก่อย่างพวกเอ็งมาทำลายชีวิตของพวกเราอีกต่อไปแล้ว” จึงเป็นเสียงที่ดังอยู่ในหัวตอนแรกๆ เพียงแต่เสียงแบบนี้ทะลุรูหูออกมาเรื่อยๆ จนไปกระแทกรูหูที่ไม่ค่อยจะได้ยินแล้วของคนสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2021-03-30