บทบรรณาธิการ

ตัวอักษรกรีกจะมากพอสำหรับการตั้งชื่อการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือไม่คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้  ไม่ว่าจะเป็น ‘Alpha Gamma หรือ Epsilon’ ฯลฯ ก็ตาม  ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายมหาศาลขนาดไหนโลกของ ‘big data’ ก็ไม่อาจจะทำให้เห็นภาพว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวต่อไปจะเป็นอะไร  ทั้งนี้ไวรัสกลายพันธุ์จากสัตว์มาสู่มนุษย์ตัวต่อไปคืออะไร?  โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) ยังคงสร้างความหวาดวิตกให้กับมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่เสมอ  โรคเกิดใหม่ (emerging disease) และกลับมาเกิดใหม่ (re-emerging disease) ยังคงไม่หนีไปและจะอยู่กับมนุษย์ไปเหมือนกับที่เคยอยู่กับมนุษย์มาตลอด 

จากพระคัมภีร์ไบเบิลจน Justinian Plague มาสู่ Black Death ไล่มาจนถึงตำราแพทย์สมัยใหม่โรคระบาดเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์  ในบางประเทศการมี ‘state epidemiologist’ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น  ในต้นศตวรรษที่ยี่สิบจาก Spanish Flu (1918-1920) ไล่มาจนถึงหลังสงครามครั้งที่สอง Asian Flue (1957-1958) มาสู่ Hong Kong Flu (1968-1969) สายพันธ์ต่างๆ มีอุบัติขึ้นมาอยู่เสมอๆ  จาก H1N1 มาสู่ H2N2 มาถึง H3N2 ตามลำดับ  สำหรับปริมาณการเสียชีวิต Spanish Flu  สร้างความสั่นสะเทือนมากที่สุด  เพราะการตายมีปริมาณในหลักหลายสิบล้านขึ้นไป  ในขณะที่สองอันหลังปริมาณก็อยู่ที่ตัวเลขหลายล้านคน

โรคระบาดไม่ได้มีแค่นี้  เช่น อหิวาห์  Marbug Virus  Lassa Fever  Nipah Virus เป็นต้น  ส่วนประสิทธิภาพในการคร่าชีวิตไม่เท่าเทียมกัน  เช่น Nipah virus อาจจะสูงได้ถึง 75% ของการติดเชื้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อินเดียใต้  ส่วนอัตราส่วนของการตายจาก Ebola สูงถึง 55-60%  ด้วยพลังของการฆ่าทำให้โอกาสแพร่เชื่อไม่ได้ทรงประสิทธิภาพ  เมื่อเป็น Ebola ก็หมายถึงการล้มหมอนนอนเสื่อ  เช่น อาเจียน ท้องเสียอย่างหนัก เป็นต้น  การควบคุมกักตัวของ Ebola ทำได้อย่างชัดเจน

ความหวาดวิตกของมนุษย์ต่อภัยอันตรายต่างๆ แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  ในศตวรรษที่สิบเก้าวัณโรคสร้างความหวาดวิตกให้กับผู้คนอย่างมาก  หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงครามนิวเคลียร์สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้คนโดยเฉพาะอย่างประเทศร่ำรวย  ความหวาดวิตกของอันตรายจากสงครามนิวเคลียร์หลังสงครามโลกครั้งที่สองค่อยหายๆ จากความทรงจำ 

ความหวาดวิตกต่อภัยอันตรายแบบอื่นๆ ได้เข้ามาแทนที่  เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากโลกร้อน เป็นต้น ชีวิตมนุษย์ที่ถูกทำให้เชื่อว่าได้จะรับการค้ำประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากรัฐกลายมาเป็นเพียงภาพแค่ภาพของ Abraham Bosse (1604-1676) ผู้เขียนภาพ ‘Leviathan’ ให้กับหนังสือ Leviathan ของ Thomas Hobbes เท่านั้น  เพราะภัยอันตรายทั้งหลายหนักหนาสาหัสกว่า “Leviathan” จะจัดการได้

นักสังคมวิทยา Ulrich Beck นำเสนอ ‘สังคมเสี่ยง’ (risk society) หรือ ‘Risikogesellschaft ไว้ในปี ค.ศ. 1986 หลังจากเหตุการณ์ปัญหาโรงงานนิวเคลียร์ที่ Chernobyl   สงครามนิวเคลียร์ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวเท่ากับโรงงานนิวเคลียร์  ในทศวรรษที่ 1990 ทั้ง Anthony Giddens และ Ulrich Beck ร่วมมือกัน (ระหว่างอังกฤษและเยอรมัน) จนทำให้คำๆ ‘สังคมเสี่ยง’ นี้ได้รับความนิยม   

การล่มสลายของรัฐสังคมนิยมในปี ค.ศ. 1989 ไปจนถึงการเสื่อมถอยของรัฐสวัสดิการภายใต้การขยายตัวของทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ทำให้ความชัดเจนของ ‘สังคมเสี่ยง’ เพิ่มเสน่ห์ในฐานะคำเตือนและการบริหารจัดการความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น  ชีวิตเต็มไปด้วยภัยอันตรายแม้ว่าจะไม่ได้เป็นภัยอันตรายแบบในจินตนาการของ Thomas Hobbes อีกต่อไป  ความเสี่ยงพร้อมเสมอที่จะถูกทำให้ไม่ให้เป็น “อันตราย”  เมื่อความเสี่ยงเป็นสิ่งที่คาดคำนวณได้  ความเสี่ยงที่คำนวณบริหารจัดการได้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องอันตราย  ถึงกระนั้นก็ดีความเสี่ยงกับอันตรายเป็นอะไรที่แยกจากกันได้ยาก  การทำอะไรที่เสี่ยงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการควบคุมชะตาชีวิตตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมาตราการป้องกันความปลอดภัย (safety) อีกมากมาย

อุดมการณ์แห่งความเป็นปัจเจกชนที่แสดงความรับผิดชอบโดยตนเอง เพื่อตนเอง และเป็นของตนเอง ตอกย้ำความเปราะบางของชีวิตเมื่อเจอกับอภิมหาภัยอันตราย เช่น โรคระบาด พายุ ฯลฯ  ‘สังคมเสี่ยง’ สะท้อนความไม่แน่นอนของชีวิตมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ความกลัวนำไปสู่การจัดการบริหารความเสี่ยง  บริษัทประกันเป็นกลไกสำคัญของระบบทุนนิยมที่หาประโยชน์มหาศาลจากชีวิตมีความเสี่ยง  แต่บริษัทประกันก็พร้อมที่จะลงทุนไปกับความเสี่ยง  แต่ถ้าเสี่ยงมากเกินไปไม่คุ้มค่าก็ต้องไม่เสี่ยง

จาก Epidemic ไปจนถึง Pandemic เชื้อโรคเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตเสี่ยงๆ   Pandemic ไม่ได้ทำให้คนตายแบบการทำร้ายจากสัตว์ร้ายหรือคนทำสงครามฆ่ากันเอง  โรคระบาดไม่ใช่ ‘Richard Parker’ เสือในนิยาย The Life of Pi ของ Yann Martel  โรคระบาดไม่ใช่สงครามที่เป็นการกระทำต่อกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองอย่างเป็นระบบ  สงครามแสดงรูปแบบพัฒนาการการใช้ ‘Rationality’ ที่ทรงประสิทธิภาพในการทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง  โรคระบาดไม่ได้ผ่านกระบวนการ ‘rationalization’  ที่แสดงออกผ่าน ‘strategic planning’  ได้  ไม่ว่าจะในระยะสั้นๆ เช่น 5-20 ปี  เป็นต้น  หรือไกลในระดับอายุขัยของมนุษย์  ความหวาดกลัวทำให้การวางแผนระยะยาวเป็นทางเลือก  ตัวเลขของแผนยิ่งยาวเท่าใดก็ยิ่งแสดงถึงความวิตกจริตมากขึ้นเท่านั้น 

โรคระบาดไม่ใช่ ‘Richard Parker’ หรือสัตว์เลี้ยงลูก เช่น มนุษย์ ที่สามารถจะใช้อาวุธฆ่าตาย  เมื่อฆ่าตายแล้วทุกอย่างกลับมามีชีวิตดีเหมือนเหล่าเทพนิยายทั้งหลาย  เป็นต้น  “สงคราม” กลายมาเป็นคำศัพท์ยอดนิยมที่ใช้กับการบริหารจัดการ ‘pandemic’  ถึงแม้ว่าคำอื่นๆ ก็สามารถที่จะใช้แทนได้  เพราะอย่างน้อยๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ “สงคราม” เช่น ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ  นอกจากนั้นโรคระบาดบางโรคที่ผ่านมาก็ไม่ได้ใช้คำแบบนี้ เช่น Zika เป็นต้น  แม้ว่า ‘Ebola’ จะใช้คำ “สงคราม” 

 “สงคราม” กลายมาเป็นคำศัพท์ที่ใช้กับการต่อสู้และการรักษาโรค เช่น มะเร็ง เป็นต้น  ผู้ป่วยกลายเป็น “ทหาร” ที่จะต้องร่วมมือกับเหล่า “นักรบ” อื่นในการใช้ เช่น คีโม เป็นต้น  “สงคราม” เป็นคำศัพท์ที่ได้รับความนิยมในการปฏิบัติการแบบอื่นๆ ของรัฐ เช่น สงครามกับความยากจน (อันเป็นแนวทางในทศวรรษที่ 1960 สมัยประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson)     สงครามกับยาเสพติดที่ “รบ” กันมาตั้งแต่นโยบายของ Richard Nixon จากความยากจนถึงยาเสพติด “สงคราม” ก็ยังคงดำเนินต่อไป

คำศัพท์อย่าง “สงคราม” ทำให้ผู้ที่ไม่ใช่ทหารดูราวกับว่าเป็น “ทหาร”  คนเหล่านี้จะต้องออกรบและพร้อมเสมอที่จะต้องสละชีวิตในสนามรบ   จาก “แนวหน้า” ไปจนถึง “แนวหลัง” ต้องเตรียมพร้อมเพื่อทำ “สงคราม”   ทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินการภายใต้ “สภาวะไม่ปกติ”  การปฏิบัติการของทหารใน “สงคราม” เป็นสิ่งที่ตั้งคำถามไม่ได้จากพลเรือน  “สงคราม” ต้องรักษาความลับ  ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่หาได้ยากและไม่มีความจำเป็นในสงคราม 

ในสงครามคนตายส่วนใหญ่นั้นเป็นพลเรือน   สงครามโลกครั้งที่สองที่มีคนตายไปประมาณ 60-75 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ถ้าคิดจาก 75 ล้านคนทหารที่ออกไปรบในสนามรบตายไปประมาณ 20 ล้านคน  พลเรือนตายไปประมาณ 40 ล้านคน ส่วนที่เหลือ 15 ล้านคนตายด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น อดอยาก ถูกสังหารหมู่ เป็นต้น  โดยยังไม่ต้องนับผู้ที่ต้องอพยพลี้ภัยไร้ที่อยู่

ในสงครามโลกครั้งสองทหารสหรัฐที่เข้าสงครามที่หลังนั้นเสียชีวิตไปประมาณ 400,700 คน  ส่วนใหญ่ไม่ใช่ทหารระดับสูง  เนื่องด้วยยุทธโถปกรณ์อาวุธระยะไกลในสนามรบเปลี่ยนแปลงไปผู้นำระดับสูงถูกย้ายไปบัญชาการด้านหลัง  ในสงครามโลกครั้งที่สองมีทหารอเมริกันระดับนายพลที่เข้าปฏิบัติการในสงครามประมาณ 1100 นาย  มีเพียงประมาณ 40 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตในช่วงสงครามและหลังสงครามเล็กน้อย  ในบรรดา 40 คนนี้มีเพียง 11 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติการในสงคราม  มี 2 คนที่ถูกประหารชีวิตโดยญี่ปุ่นเมื่อตกเป็นเชลยศึก 

นายพล Simon Bolivar Buckner Jr. เป็นหนึ่งผู้เสียชีวิตในการสับประยุทธ์กันอย่างดุเดือดระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารอเมริกันบนเกาะโอกินาวา  ทหารอเมริกันเสียชีวิตไปประมาณ 7000 นาย  ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตไปประมาณ 100,000 นาย  ภาพของทหารอเมริกันปักธงบนเขาซูริบาชิ เกาะไอโวจิม่า อันโด่งดังเป็นทหารระดับจ่าและพลทหาร

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2021-08-17