อุปสรรคในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

Main Article Content

อารี ภาวสุทธิไพศิฐ
นะรงษ์ ชาวเพ็ชร

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เพื่อสังเคราะห์อุปสรรคและการแก้ไขอุปสรรคในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาต้องใช้ร่วมกัน กลุ่มตัวอย่างคือโรงเรียนเฉพาะความพิการที่มีการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเรียนรวมกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 4 โรงเรียน คัดเลือกโดยใช้วิธียึดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นหลักและวิธีสังคมมิติ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก เครื่องมือที่ใช้คือ 1. แบบวิเคราะห์เอกสาร 2. แบบสัมภาษณ์ 3. แบบบันทึกข้อมูลจากการสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า


อุปสรรคของสภาพแวดล้อมด้านอาคารสถานที่คือความไม่เพียงพอของน้ำใช้ อาคารสถานที่และเครื่องคอมพิวเตอร์ตามลำดับ โรงเรียนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กังวลเรื่องความปลอดภัยและความเหมาะสม และทุกโรงเรียนคิดว่ายังมีบางบริเวณที่ควรพัฒนาในเรื่องความสะอาด อุปสรรคของสภาพแวดล้อมด้านกลุ่มเพื่อนคือเรื่องวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกัน ลักษณะเฉพาะของเด็กทั้ง 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน และการบริหารจัดการให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน ตามลำดับ อุปสรรคของสภาพแวดล้อมด้านการจัดการเรียนรู้ในส่วนผู้สอนนั้นคือเรื่องการสื่อสาร ความไม่เพียงพอของความรู้และประสบการณ์ การเลือกดูแลเด็กและจำนวนของครูต่อนักเรียนไม่เหมาะสม และความแตกต่างทางความคิดและภาระงานของครู
มีมาก ตามลำดับ ส่วนอุปสรรคที่เกี่ยวกับตัวผู้เรียนคือเรื่องลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน เรื่องภาวะอารมณ์และพฤติกรรมของผู้เรียนรายบุคคล และกระบวนการจัดการเรียนรู้ยังไม่มีความชัดเจนและเหมาะสมตามลำดับ อุปสรรคของสภาพแวดล้อมด้านการบริหารคือเรื่องการขัดแย้งทางความคิด การสื่อสารภายในองค์กร และการมอบหมายภาระงานอื่นๆให้ครู 


การแก้ไขอุปสรรคมีทั้งวิธีการแก้ไขที่เหมือนกันและที่แตกต่างตามบริบทของโรงเรียน และพบว่าผู้บริหาร ครู นักเรียนตลอดจนชุมชนภายนอกมีส่วนร่วมในการแก้ไข 
การแก้ไขอุปสรรคมีความแตกต่างกันในกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มตามบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ บางอุปสรรคใช้วิธีการแก้ไขหลายวิธีในขณะเดียวกัน การแก้ไขอุปสรรคมีทั้งระดับนโยบายและระดับบุคคล รวมทั้งการป้องกันไว้ล่วงหน้าและ ณ ขณะที่อุปสรรคเกิดขึ้นแล้ว 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

จิตประภา ศรีอ่อน และ เจนจิรา เทศทิม. (2548). การศึกษาพฤติกรรมการใช้เวลาวันหยุดของคนหูหนวกในกรุงเทพมหานคร. วารสารวิทยาลัยราชสุดา, 1(1), 13-20.

จิตราพัชร์ ชัยรัตนหิรัญกุล และ ธานี เกสทอง. (2556). การศึกษาการจัดการความขัดแย้งในสถานศึกษาของผู้บริหารโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 42. วารสารวิชาการเครือข่ายบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ, 3(5), 137-151.

ทรงธรรม ธีระกุล. (2548). การสื่อสาร: กลยุทธ์สู่ความสำเร็จขององค์กร. วารสารปาริชาต, 18(1), 51-61.

นภสร ตันปัทมดิลก. (2548). การดำเนินงานของโรงเรียนต้นแบบที่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ: การศึกษาแบบข้ามกรณี. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นวพล สอนวิชา. (2546). การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนอุบลปัญญานุกูล สังกัดกอง การศึกษาเพื่อคนพิการ กรมสามัญศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

วรพล ปุญญมัย. (2551). สุขภาพจิตและการเลือกคบเพื่อนของนักเรียนมัธยมศึกษา

ตอนปลาย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศรีสุดา พัฒจันทร์, ประเสริฐ เรือนนะการ และ ทรงศักดิ์ ภูสีอ่อน. (2562). สภาพปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารวิทยาลัยราชสุดาเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนพิการ, 15(2), 47-61.

สุจินต์ สว่างศรี. (2557). การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในประเทศไทย. วารสารวิทยาลัยราชสุดาเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนพิการ, 10(13), 51-70.

อรพันธุ์ ประสิทธิรัตน์. (2545). สภาพแวดล้อมการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564, จาก http://ejournals.swu.ac.th/index.php/ENEDU/article/view/5955/5590

Guney, A., & Al, S. (2012). Effective learning environments in relation to different learning theories. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 46, 2334-2338.