การสื่อสารอัตลักษณ์อาหารไทยผ่านรายการโทรทัศน์
คำสำคัญ:
-บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารเพื่อการประกอบสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นไทย” ของอาหารไทยในรายการอาหารทางโทรทัศน์ และ (2) ศึกษาวิเคราะห์บทบาทของรายการอาหารทางโทรทัศน์ ในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการสื่อสารอัตลักษณ์ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ผลการวิจัยพบว่า การสื่อสารอัตลักษณ์ “ความเป็นไทย” ของอาหารไทยในรายการโทรทัศน์ไม่ได้มีลักษณะเพียงหนึ่งเดียวหรือหยุดนิ่งตายตัว หากแต่มีลักษณะเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง และมีหลากหลายโฉมหน้าถึง 3 ชั้น และอัตลักษณ์อาหารไทยที่พบมากที่สุด ได้แก่ อัตลักษณ์ชั้นเปลือก ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในเรื่องการใช้อุปกรณ์ครัว การใช้ส่วนผสมเครื่องปรุง และการจัดจานอาหาร รองลงมาเป็นอัตลักษณ์ชั้นกระพี้ ที่มีการต่อรองปรับประยุกต์ ผสมผสาน ดัดแปลงในเรื่องรสชาติอาหาร และการจัดเตรียมวัตถุดิบ และที่พบน้อยที่สุด คือ อัตลักษณ์ชั้นแก่น ที่ยังคงรักษาความเป็นไทยในเรื่องวิธีการประกอบและปรุงอาหารแบบไทยไว้
สำหรับประเด็นบทบาทหน้าที่ในการสื่อสารอัตลักษณ์อาหารไทยของรายการโทรทัศน์ พบว่า รายการโทรทัศน์มีบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ทั้งหมด 11 บทบาท ได้แก่ (1) บทบาทในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน (2) บทบาทในการสร้างความมั่นใจ (3) บทบาทในการสร้างพื้นที่ต่อรอง (4) บทบาทในการสร้างต้นแบบ (5) บทบาทในการสร้างความแตกต่าง (6) บทบาทในการสร้างความภาคภูมิใจ (7) บทบาทในการสร้างความเป็นไทยแท้ (8) บทบาทในการสร้างความแปลกใหม่ (9) บทบาทในการสร้างคุณค่า (10) บทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มความเป็นไทยที่ทันสมัย และ (11) บทบาทในการแบ่งพื้นที่ให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยของอาหารไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งรายการ โทรทัศน์ไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ร่วม (collective identity) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางวัฒนธรรม (cultural crisis) ที่เกิดขึ้นในยุคที่วัฒนธรรมอาหารได้กลายเป็นสินค้า (commodity) และครัวไทยได้ก้าวสู่ครัวโลกก็ยิ่งทำให้อัตลักษณ์อาหารไทยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ รายการโทรทัศน์ไทยจึงเป็นสถาบันหรือองค์กรทางวัฒนธรรมที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการกำกับรหัสการสื่อสารอัตลักษณ์อาหารไทย ที่จะบอกกับผู้ชมคนไทย “พวกเรา” ถึงความเป็นไทยของอาหารไทย