การสื่อสารเพื่อการเผชิญภาวะวิกฤตน้ำท่วมในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • กิติมา สุรสนธิ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                   การวิจัยเรื่อง การสำรวจสภาพการณ์การสื่อสาร พ.ศ. 2556 เพื่อการกำหนดนโยบายการสื่อสารในภาวะน้ำท่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับสื่อและข้อมูลข่าวสารในภาวะน้ำท่วม ความคิดเห็นของประชาชน ความ ต้องการด้านการสื่อสาร และพฤติกรรมในการเผชิญภาวะน้ำท่วมในเขต ภาคกลางตอนเหนือ รวมทั้งแนวทางในการกำหนดนโยบายการสื่อสารเพื่อบริหารจัดการกับภาวะน้ำท่วมในประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ โดยผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามของประชาชนในเขตภาคกลางตอนเหนือ อันได้แก่ กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 400 คน 
                   จากผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายและเพศหญิงจำนวนพอๆ กัน และมีอายุอยู่ในช่วง 21 ถึง 40 ปี ประกอบอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัว มีรายได้ตั้งแต่ 10,001-20,000 บาท ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี และเป็นกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์น้ำท่วม 1-2 ครั้ง ส่วนมูลค่าความเสียหายจากการประสบภัยน้ำท่วมที่ผ่านมาในปี 2556 ประมาณ 10,000 บาท และมีวิธีการจัดการปัญหาน้ำท่วมโดยการอยู่บ้าน รองลงมาคือ ย้ายไปอยู่ที่อื่น ในด้านการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในช่วงน้ำท่วมนั้น ถ้าพิจารณาค่าร้อยละ ส่วนใหญ่ เปิดรับสื่ออินเทอร์เน็ต รองลงมาคือ เปิดรับสื่อโทรทัศน์ และถัดไปคือ อ่านหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยแล้วพบว่า ประชาชนเปิดรับสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ สำหรับเนื้อหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมนั้นพบว่า เนื้อหาที่เปิดรับเป็นประจำมากที่สุดคือ ข่าวสภาพอากาศ รองลงมาคือ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุน้ำท่วม 
                  ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการสื่อสารของภาครัฐ ทั้งในด้านผู้ส่งสาร สาร และช่องทางการสื่อสารนั้น พบว่า ในส่วนของผู้ส่งสาร มีหน่วยงานหลายหน่วยงานมากเกินไปในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วม ในส่วนของเนื้อหาสารพบว่า เนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมยังมีน้อยเกินไป และเนื้อหาไม่ครบถ้วน สำหรับช่องทางการสื่อสาร พบว่า ช่องทางสื่อที่ใช้เผยแพร่เกี่ยวกับน้ำท่วมน้อยเกินไป ด้านความต้องการด้านการสื่อสารในภาวะน้ำท่วมนั้นพบว่า ประชาชนมีความต้องการในระดับมากในทุกเนื้อหาการสื่อสาร
                  สำหรับแนวทางในการกำหนดนโยบายการสื่อสารเพื่อการบริหารจัดการกับภาวะน้ำท่วมในประเทศไทย โดยพิจารณาจากปัญหาที่พบในผลการวิจัยที่กล่าวข้างต้น มี 4 แนวทาง ดังนี้
                  ด้านผู้ส่งสาร ควรใช้ผู้ส่งสารที่มีความรู้และทักษะทางการสื่อสาร เป็นมืออาชีพที่มีความน่าเชื่อถือ มาร่วมทำงานโดยกำหนดเป็นทีมเฉพาะกิจ และเป็นศูนย์รวมในการวางกลยุทธ์การให้ข่าวสารที่เป็นเอกภาพ โดยรวมเอาข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมจากหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน เป็นต้น
                  ด้านตัวสาร ควรสร้างสารที่มีลักษณะดึงดูดความสนใจ และง่ายในการทำความเข้าใจ ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา เช่น การใช้ภาพเหตุการณ์จริง ภาพกราฟิกต่างๆ ตลอดจนสร้างคู่มือการเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมที่สามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย
                  ด้านตัวสื่อ ควรเลือกใช้สื่อที่หลากชนิดให้เหมาะสมกับการเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญกับสื่อบุคคล โดยมีการเตรียมบุคลากรของรัฐให้มีศักยภาพทางการสื่อสารและพร้อมปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรเตรียมการใช้สื่อท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนในกรณีที่สื่อส่วนกลางปกติไม่สามารถใช้งานได้
                  ด้านผู้รับสาร ควรให้ความสำคัญในการผลิตข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม และสนองความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพ เป็นต้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-11-2018