การศึกษาหลักการในการผลิตเสียงบรรยายภาพในรายการโทรทัศน์สำหรับคนพิการทางการเห็น

ผู้แต่ง

  • อารดา ครุจิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

                  การวิจัยเรื่อง การศึกษาหลักการผลิตเสียงบรรยายภาพในโทรทัศน์สำหรับคนพิการทางการเห็น มีแบบแผนการวิจัยแบบสำรวจเอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก และสังเกตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อศึกษารวบรวมแนวทางในการผลิตเสียงบรรยายภาพ (audio description) ในต่างประเทศ และนำเสนอแนวทางผลิตในประเทศไทย การออกแบบการวิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็น 4 ด้านคือ แนวทางจากหน่วยงานกำกับดูแล สถาบันผลิตเสียงบรรยายภาพ ภาควิชาการ และตัวแทนคนพิการทางการเห็น ทั้งจากต่างประเทศและประเทศไทย รวม 16 กลุ่มตัวอย่าง โดยมีประเด็นนำวิจัย 5 ประการคือ หลักการทั่วไปของเสียงบรรยายภาพ แนวทางการเลือกสาร แนวทางทางภาษา แนวทางการใช้เสียง และตระกูลรายการกับเสียงบรรยายภาพ
                  ผลการวิจัยสรุปว่า เสียงบรรยายภาพคือ การให้บริการเพื่อการเข้าถึงสื่อเกี่ยวการให้ข้อมูลด้านภาพที่จำเป็นและสำคัญในสื่อโทรทัศน์ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเพลิดเพลิน กลุ่มผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากสื่อคือ กลุ่มคนพิการทางการเห็นทั้งตาบอดสนิทและสายตาเลือนราง และกลุ่มรองได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ต้องการเพิ่มความสามารถด้านภาษา โดยกลุ่มรองนี้ อาจเป็นผู้ไม่มีปัญหาด้านการมองเห็นและกลุ่มผู้ต้องการใช้โทรทัศน์เพื่อการฟัง เสียงบรรยายภาพมีแนวทางการจัดทำบทสองแนวทางคือ แนวทางแบบตรงตัว ที่เน้นการบรรยายตามสิ่งที่เห็นและแนวทางแบบตีความ สรุปความและเพิ่มความได้ตามความจำเป็น ตระกูลรายการที่มีความจำเป็นมากในการผลิตเสียงบรรยายภาพ ได้แก่ ละคร ภาพยนตร์และสารคดี และตระกูลรายการที่มีความจำเป็นน้อย ได้แก่ รายการข่าว สนทนา และเกมโชว์ เสียงบรรยายภาพมีขั้นตอนการผลิตคือ การคัดเลือกรายการ การทำความเข้าใจต้นฉบับ การเตรียมบทเสียงบรรยายภาพ การบันทึกเสียงและตัดต่อเสียง และทักษะสำคัญในการผลิตเสียงบรรยายภาพคือ ทักษะการเลือกสารที่จำเป็นและสำคัญ ทักษะด้านภาษา การเข้าใจเรื่องการสื่อความหมายผ่านภาพในโทรทัศน์ ทักษะการใช้เสียง และความเข้าใจเรื่องคนพิการทางการเห็น
                  หลักการในการผลิตเสียงบรรยายภาพแบ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ (prac-tices) และแนวทางเชิงหลักการ (principles) ในประเทศไทยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจแนวทางในเชิงหลักการได้เป็นอย่างดี แต่แนวทางในเชิงปฏิบัติยังไม่มีเป็นรูปธรรม สามารถนำแนวทางปฏิบัติในต่างประเทศที่รวบรวมไว้ในงานวิจัยมาปรับใช้ได้ ทั้งด้านการเลือกสาร กระบวนการผลิต ด้านเสียง แต่แนวทางปฏิบัติด้านภาษาไม่สามารถนำแนวทางจากต่างประเทศมาใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีวัฒนธรรมทางภาษาไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องทำการวิจัยและขยายองค์ความรู้ด้านภาษาไทยกับเสียงบรรยายภาพต่อไปในอนาคต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-11-2018